ลงเข็มปลูกบ้านเรือน
พิธีนี้ ใช้แทนพิธียกเสาในสมัยก่อน เพราะในสมัยก่อน การปลูกบ้านเรือน ไม่ค่อยมีการลงเข็ม ส่วนในสมัยนี้มีการลงเข็มเป็นพื้น จึงนิยมลงเข็มกันเป็นส่วนมาก
พิธีมักทำใกล้ๆกับหลุมที่จะลงเข็ม ใช้พระรูปเดียวก็ได้ สองรูปก็ได้ ห้ารูปหรือเก้ารูปก็ได้ มักไม่มีการสวดมนต์ในพิธี แต่ถ้าฤกษ์ใกล้กับเวลาฉัน จะถวายอาหารเช้าหรืออาหารเพลก็ได้แล้วแต่กรณี เบื้องแรกที่สุด ต้องไปขอฤกษ์วันลงเข็ม ผู้รู้จะบอกให้ทราบว่าลงเข็มหลุมทิศไหนก่อน ต่อจากนั้นจึงไปติดต่อกับช่างผู้จะตีเข็มในวันนั้น และกำชับกำชาให้ดีอย่าให้เสียฤกษ์ได้ เขาจะได้ขุดหลุมและเสี้ยมเสาเข็มไว้ล่วงหน้า และทำการได้ตรงตามฤกษ์
ถ้าเป็นบ้านที่อยู่อาศัย พิธีมักทำในเดือนคู่(เว้นเดือน ๘) ห้ามเดือนคี่(แต่เดือน ๙ อนุญาตให้ทำได้) ถ้ามิใช่บ้านที่อยู่อาศัย จะทำในเดือนใดก็ได้ ขอให้เป็นเพียงฤกษ์ดีเท่านั้น มีข้อสำคัญที่จะพึงจำในพิธีนี้ก็คือ
๑. จัดโต๊ะไว้สองตัว ปูด้วยผ้าขาว ตัวหนึ่งเล็ก วางแจกันปักดอกไม้ ๑ คู่ เชิงเทียนพร้อมทั้งเทียน ๑ คู่ กระถางธูปพร้อมทั้งธูป ๕ ดอก สำหรับบูชาพระรัตนตรัยและท่านผู้มีคุณ อีกตัวหนึ่งค่อนข้างใหญ่วางเครื่องสังเวย เชิงเทียนพร้อมทั้งเทียนหนักเล่มละ ๖ สลึง ไส้ ๙ เส้น ๑ คู่ และธูปเทียน(ดอกเล็ก) มีจำนวนเท่ากับของเครื่องสังเวย
๒. เตรียมเก้าอี้ไว้สำหรับพระผู้ทำพิธี และโต๊ะวางสิ่งของอื่นๆในพิธี ถ้าแดดร้อนเตรียมหาเครื่องมุงสำหรับพระด้วย
๓. หาของที่ต้องใช้ในพิธีไว้ให้พร้อม คือ น้ำมนต์ ทราย ๑ ถัง เศษเงินเศษทองเล็กน้อย กระแจะสำหรับเจิม ทองคำเปลวมีจำนวน ๓ แผ่นต่อเสาเข็ม ๑ ตัน(ถ้าหลุมนั้นมีเข็ม ๕ ต้นต้องเตรียมไว้ ๑๕ แผ่น) ดินสอดำ(สำหรับลงยันต์) กระเทียมปอกเปลือก ๑๐ กลีบ(สำหรับทาปิดทอง) ใบไม้พรมน้ำมนต์และภาชนะตักน้ำมนต์
วิธีการ เมื่อถึงปฐมฤกษ์ พระจะลงยันต์ที่ปลายเข็มปิดทองเจิมและพรมน้ำมนต์แล้วเสกทราย ในขณะเดียวกัน ผู้เป็นเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ณ โต๊ะซึ่งเตรียมไว้ เสร็จแล้วอธิษฐานแล้วมาจุดธูปเทียนที่อีกโต๊ะหนึ่ง จุดธูปที่ปักเครื่องสังเวยทุกอย่าง บูชาเทวดาเสร็จแล้วอธิษฐานเช่นเดียวกัน ต่อจากนั้น พระจะไปโปรยทรายและเทน้ำมนต์ลงในหลุม แล้วหย่อนเศษเงินทองลงในหลุม ช่างทำการตีเข็มต่อไป พระจะชะยันโต ฯลฯ (๓ หน) และจบลงด้วย สัพเพ พุทธา ฯลฯ สัพพะโส (๓ หน) และ ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง ฯลฯ ภะวันตุ เต ส่วนทรายและน้ำมนต์ที่เหลือใช้โปรยและเทลงหลุมอื่นๆ เป็นเสร็จพิธี