วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ลงเข็มปลูกบ้านเรือน

ลงเข็มปลูกบ้านเรือน

พิธีนี้  ใช้แทนพิธียกเสาในสมัยก่อน เพราะในสมัยก่อน การปลูกบ้านเรือน ไม่ค่อยมีการลงเข็ม ส่วนในสมัยนี้มีการลงเข็มเป็นพื้น จึงนิยมลงเข็มกันเป็นส่วนมาก


พิธีมักทำใกล้ๆกับหลุมที่จะลงเข็ม ใช้พระรูปเดียวก็ได้ สองรูปก็ได้ ห้ารูปหรือเก้ารูปก็ได้ มักไม่มีการสวดมนต์ในพิธี แต่ถ้าฤกษ์ใกล้กับเวลาฉัน จะถวายอาหารเช้าหรืออาหารเพลก็ได้แล้วแต่กรณี เบื้องแรกที่สุด ต้องไปขอฤกษ์วันลงเข็ม ผู้รู้จะบอกให้ทราบว่าลงเข็มหลุมทิศไหนก่อน ต่อจากนั้นจึงไปติดต่อกับช่างผู้จะตีเข็มในวันนั้น และกำชับกำชาให้ดีอย่าให้เสียฤกษ์ได้ เขาจะได้ขุดหลุมและเสี้ยมเสาเข็มไว้ล่วงหน้า และทำการได้ตรงตามฤกษ์


ถ้าเป็นบ้านที่อยู่อาศัย พิธีมักทำในเดือนคู่(เว้นเดือน ๘) ห้ามเดือนคี่(แต่เดือน ๙ อนุญาตให้ทำได้) ถ้ามิใช่บ้านที่อยู่อาศัย จะทำในเดือนใดก็ได้ ขอให้เป็นเพียงฤกษ์ดีเท่านั้น มีข้อสำคัญที่จะพึงจำในพิธีนี้ก็คือ

๑.      จัดโต๊ะไว้สองตัว ปูด้วยผ้าขาว ตัวหนึ่งเล็ก วางแจกันปักดอกไม้ ๑ คู่ เชิงเทียนพร้อมทั้งเทียน ๑ คู่ กระถางธูปพร้อมทั้งธูป ๕ ดอก สำหรับบูชาพระรัตนตรัยและท่านผู้มีคุณ อีกตัวหนึ่งค่อนข้างใหญ่วางเครื่องสังเวย เชิงเทียนพร้อมทั้งเทียนหนักเล่มละ ๖ สลึง ไส้ ๙ เส้น ๑ คู่ และธูปเทียน(ดอกเล็ก) มีจำนวนเท่ากับของเครื่องสังเวย
๒.      เตรียมเก้าอี้ไว้สำหรับพระผู้ทำพิธี และโต๊ะวางสิ่งของอื่นๆในพิธี ถ้าแดดร้อนเตรียมหาเครื่องมุงสำหรับพระด้วย
๓.      หาของที่ต้องใช้ในพิธีไว้ให้พร้อม คือ น้ำมนต์ ทราย ๑ ถัง เศษเงินเศษทองเล็กน้อย กระแจะสำหรับเจิม ทองคำเปลวมีจำนวน ๓ แผ่นต่อเสาเข็ม ๑ ตัน(ถ้าหลุมนั้นมีเข็ม ๕ ต้นต้องเตรียมไว้ ๑๕ แผ่น) ดินสอดำ(สำหรับลงยันต์) กระเทียมปอกเปลือก ๑๐ กลีบ(สำหรับทาปิดทอง) ใบไม้พรมน้ำมนต์และภาชนะตักน้ำมนต์
วิธีการ เมื่อถึงปฐมฤกษ์ พระจะลงยันต์ที่ปลายเข็มปิดทองเจิมและพรมน้ำมนต์แล้วเสกทราย ในขณะเดียวกัน ผู้เป็นเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ณ โต๊ะซึ่งเตรียมไว้ เสร็จแล้วอธิษฐานแล้วมาจุดธูปเทียนที่อีกโต๊ะหนึ่ง จุดธูปที่ปักเครื่องสังเวยทุกอย่าง บูชาเทวดาเสร็จแล้วอธิษฐานเช่นเดียวกัน ต่อจากนั้น พระจะไปโปรยทรายและเทน้ำมนต์ลงในหลุม แล้วหย่อนเศษเงินทองลงในหลุม ช่างทำการตีเข็มต่อไป พระจะชะยันโต ฯลฯ (๓ หน) และจบลงด้วย สัพเพ พุทธา ฯลฯ สัพพะโส (๓ หน) และ ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง ฯลฯ ภะวันตุ เต ส่วนทรายและน้ำมนต์ที่เหลือใช้โปรยและเทลงหลุมอื่นๆ เป็นเสร็จพิธี

โกนผมไฟ

โกนผมไฟ
เมื่อเด็กเกิดได้ไม่ต่ำกว่า ๑ เดือน มักนิยมโกนผมไฟ พิธีการอย่างแบบพระ มีไม่มากเท่าไรนัก ข้อสำคัญ คือ

๑.หาวันและเวลาโกนผมไฟจากผู้รู้
๒.อาราธนาพระมาสวดมนต์และฉัน
๓.จัดที่บูชาอย่างทำบุญมงคลธรรมดา

ส่วนเครื่องใช้พิเศษก็คือ กระแจะสำหรับเจิม ด้านสายสิญจน์สำหรับผูกมือ ผูกเท้าเด็ก กรรไกร กรรบิดเงินทอง ใบบอน จัดใส่ไว้ในพานวางไว้ที่ข้างที่บูชา วงด้วยสายสิญจน์ นี้เป็นอย่างน้อย อย่างมากมักจัดโต๊ะล้างหน้า ประกอบด้วยสังข์ กรรไกร กรรบิดเงิน ใบบอน วางไว้ข้างที่บูชา วงด้วยสายสิญจน์ และมีบายศรีปากชาม ๑ ที่

พิธีการ เวลาพระสวดมนต์ เอาเด็กอยู่ในวงรอบของสายสิญจน์ พ่อแม่เด็กเป็นคนจุดธูปเทียนหน้าพระ นอกจากนั้นเมื่อได้ฤกษ์ ถ้าเป็นชาย ให้พระเป็นผู้หัวหน้าตัดผมเล็กน้อยพอเป็นพิธี เจิมหน้าและผูกมือผูกเท้าพระนอกนั้น ชะยันโต ฯลฯ ๓ จบ นอกนั้น ญาติผู้ใหญ่หรือผู้มีเกียรติอื่นๆ ตัดผมเด็กพอเป็นพิธีเป็นลำดับไป ถ้าเป็นเด็กผู้หญิง เป็นเรื่องของฆราวาสจะพึงทำตามลำดับ พระจะทำเพียงประพรมน้ำมนต์ให้เท่านั้น ในการตัดหรือขริบผมนั้น ต้องเอากรรไกรหรือกรรบิดจุ่มในน้ำมนต์ก่อนเสมอ เมื่อพระสวดอนุโมทนาและเจ้าภาพกรวดน้ำแล้ว เป็นเสร็จพิธี

หมายเหตุ ในสมัยก่อน เมื่อตัดหรือขริบผมแล้ว มักพาเด็กไปโกนผมด้วย แต่เดี๋ยวนี้ไม่นิยมแล้ว ในกรณีที่มีบายศรีเวลาตัดเสร็จ มักเอา(ไข่แดง) ที่ยอดบายศรีให้เด็กกินด้วย ผมที่ตัดที่ขริบหรือโกนแล้ว มักนิยมวางไว้ที่ใบบอน เสร็จพิธีแล้วจึงนำไปลอยน้ำ พิธีนี้บางรายก็ใช้พราหมณ์มาทำพิธีด้วย พิธีพราหมณ์มีของพิเศษอีกหลายอย่าง เช่น สังข์และบัณเฑาะว์ มะพร้าวเงิน มะพร้าวทอง เป็นต้น และวิธีการก็แตกต่างกันไปจากที่กล่าวแล้ว

แหล่งข้อมูล: มงคลพิธี ฉบับสมบูรณ์ รวบรวมและเรียบเรียงโดย ท. ธีรานันท์