แต่งงาน
เมื่อหญิงชายต่างมีฉันทะร่วมกันในอันที่จะครองเรือนแล้ว ฝ่ายชายจะส่งคนไปสู่ขอกับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเสียชั้นหนึ่งก่อน ต่อจากนั้น ก็กำหนดวันหมั้น ของหมั้นมักเป็นแหวน ในการหมั้นไม่ค่อยมีพิธีรีตองอะไรมากนัก ผู้ไปหมั้นที่เรียกว่าเถ้าแก่ เชิญขันหมากไปถึงแล้ว ก็กล่าวคำเป็นที่เจริญใจ และบอกความประสงค์ว่า ขอหมั้น(หญิงชื่อนี้)...... ซึ่งเป็นธิดาของ.... ให้กับ(ชายชื่อนี้) ซึ่งเป็นบุตรของ.... แล้วมอบแหวนหมั้นให้กับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง ปัจจุบันนี้ บางรายให้ผู้ชายสวมแหวนที่นิ้วมือของผู้หญิงเลยทีเดียวก็มี
วิธีจัดขันหมาก ให้จัดเป็น 2 ขัน เรียกว่า 1 คู่ ขันหนึ่งใช้พลู 8 เรียง เรียงละ 8 ใบ ซ้อนตัดก้านให้เสมอเท่ากัน ทาก้านใบพลู 8 เรียงนั้นด้วยชาดแดง แล้ววางลงรอบขันหันเอาปลายใบพลูขึ้นปากขันหมาก ตัดให้ติดกันเป็นคู่ๆ ทาก้านที่ตัดด้วยชาดแดง ใส่ยอดรัก ยอดใบเงิน ยอดใบทอง สิ่งละ 3 ยอด ข้าวเปลือก 1 ถุง ถั่วเขียว 1 ถุง งาดำ 1 ถุง ส่วนอีกขันหนึ่ง ใช้พลู 9 เรียง หมาก 9 คู่(ตัดก้นเล็กน้อยทาด้วยสีแดง) นอกนั้นใช้ของเช่นเดียวกับขันแรก ส่วนอีกขันหนึ่ง เป็นขันของหมั้นหรือสินสอด ใส่ยอดรัก 3 ยอด ยอดใบเงิน 3 ยอด ยอดใบทอง 3 ยอด ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก ดอกดาวเรือง มีจำนวนพองาม ข้าวเปลือก 1 ถุง ถั่วเขียว 1 ถุง งาดำ 1 ถุง เศษเงินเศษทอง สุดแต่จะใส่ไม่จำกัด ในขณะที่เรียงของต่างๆลงในขัน ให้อธิษฐานอวยพรไปในตัว
ทางผู้ใหญ่ฝ่ายผู้หญิง ควรเตรียมของชำร่วยแก่คนทุกคนที่มากับฝ่ายผู้ชายในวันหมั้น ภายหลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงกำหนดวันแต่งงาน ซึ่งแยกเป็นรายการ 3 ตอน คือ ตอน 1 ขันหมากออกจากบ้านหรือลงทะเบียน ตอน 2 รดน้ำ ตอน 3 ปูที่นอน เรียงหมอนแล้วส่งตัว การหมั้นก็ดี รายการทั้ง 3 ตอนในวันแต่งงานก็ดี ขึ้นอยู่กับฤกษ์งามยามดี ซึ่งจำต้องไปขอจากท่านผู้รู้ การแต่งงานนี้ มักทำในเดือนคู่ เว้นเดือน 8 ห้ามทำในเดือนคี่ ยกเว้นเดือน 9 ซึ่งอนุญาตให้ทำได้
ปัจจุบัน พิธีการซึ่งเกี่ยวกับพระ ก็คืออาราธนาพระ 9 รูปเจริญพระพุทธมนต์แล้วฉันเช้าในวันเดียวเสร็จ เจ้าบ่าวเจ้าสาวตกบาตรร่วมกัน ตอนพระสวด พาหุง หลังจากนั้นไม่เกี่ยวกับพระ เป็นเรื่องของฆราวาสโดยเฉพาะ ความนิยมอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนับสนุนก็คือ ถวายอาหารเบามื้อเช้า ส่วนข้าวในบาตรพร้อมทั้งของที่ฝาบาตร และอาหารคาวหวาน จัดใส่ปิ่นโตถวายเพื่อให้นำกลับไปฉันเพลต่อไป เป็นความสะดวกดีอยู่
การจัดที่บูชา คงเป็นอย่างทำบุญงานมงคลธรรมดา มีที่แปลก ก็คือ นำโต๊ะล้างหน้าซึ่งใส่ สังข์รดน้ำ โถปริก เครื่องเจิม ขันน้ำมนต์ และมงคลแฝด มาตั้งไว้ข้างโต๊ะหมู่บูชา วงด้วยสายสิญจน์ เวลาจุดธูปเทียน แบ่งจุดเทียนคนละเล่ม จุดธูปคนละ 2 ดอก บางรายใช้เทียนมงคลคนละเล่มแทน ของใครใครจุด แต่เทียนแบบนี้ห้ามให้หมดไปเอง ต้องระวังอย่าให้ดับด้วยเหตุอื่นๆ ไม่เหมือนเทียนธรรมดา ซึ่งดับได้เมื่อเสร็จพิธีพระ ส่วนที่กรวดน้ำใช้ที่เดียวกันกรวดด้วยกัน เวลาพรมน้ำมนต์ให้เข้าไปพร้อมๆกัน พนมมือก้มลงรับน้ำมนต์ พระจะสวดชะยันโต ฯลฯ ต่อด้วย สัพเพ ฯลฯ สัพพะโส 3 จบ เป็นเสร็จพิธีที่เนื่องด้วยพระ จากนี้จะได้กล่าวถึงพิธีที่เนื่องด้วยฆราวาสต่อไป
ในการหมั้นนั้น บางรายต้องรอการแต่งเป็นปีๆ บางราบจอรนครบ 1 ปี จึงแต่ง บางรายครึ่งปี บางรายเดือนเดียว บางรายรวดเร็วมากคือหมั้นวันนั้นแต่งวันนั้น แต่มีน้อยรายไม่ชอบหมั้น แต่งก็แต่งกันเลย ในกรณีเหล่านี้ ต่างมีเหตุผลไปคนละอย่าง ทางที่ดีนั้นควรมีการหมั้น แต่อย่าให้เนิ่นนานเกินไป หากมีเหตุการณ์จะให้แต่งเร็วไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งหมั้น ดูแลคบกันไปก่อนในลักษณะที่สมควร เมื่อถึงวันแต่ง ในสถานที่รดน้ำ พึงตั้งโต๊ะหมู่บูชา มีพระพุทธรูป เครื่องตั้งเครื่องบูชา พร้อม(แบบทำบุญงานมงคลธรรมดา) จะตั้งหันหน้าไปทางทิศไหน ก็ได้ดูสมแก่สถานที่ ตั้งโต๊ะรดน้ำพร้อมด้วยเครื่องรดน้ำ โดยหันหน้าเจ้าบ่าวเจ้าสาวสู่ทิศที่เป็นมงคลในวันนั้น เมื่อถึงเวลารดน้ำ เจ้าบ่าวเจ้าสาวจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยที่โต๊ะหมู่บูชา เช่นเดียวกับตอนเลี้ยงพระเช้า แล้วกลับมานั่งที่โต๊ะรดน้ำ(ผู้ชายนั่งทางขาวมือของผู้หญิง) พนมมือรอรับน้ำสังข์
ผู้เป็นประธานในพิธี ไปกราบที่โต๊ะหมู่บูชาก่อน แล้วจึงไปเจิมหน้าผากเจ้าบ่าวเจ้าสาว สวมมงคลคู่ และคล้องพวงมาลัยแล้วเริ่มรดน้ำสังข์เป็นคนแรก ต่อจากนั้นคนอื่นๆขึ้นไปรดโดยลำดับ(การรดน้ำสังข์ ควรใชมือทั้งสองจับสังข์) รดเสร็จหมดแล้ว มีผู้ใหญ่คนหนึ่งถอดมงคลคู่ แล้วเจ้าบ่าวเจ้าสาวลุกขึ้นไปกราบที่โต๊ะหมู่บูชา เป็นเสร็จพิธีรดน้ำ ต่อมามีการเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งมักเริ่มแต่เวลา 18ใ30 น. หรือ 19.00 น. ในการนี้บางทีก็มีดนตรีบรรเลง บางทีก็ไม่มี แต่มักมีผู้กล่าวคำอวยพรแก่คู่บ่าวสาวในนามของแขกที่ได้รับเชิญ ส่วนในการปูที่นอนเรียงหมอน ต้องให้ผู้ใหญ่ที่เป็นคู่สามีภรรยาที่อยู่กันยั่งยืนและรุ่งเรืองเป็นผู้ดำเนินการ จากนั้นจึงมีการส่งตัวเจ้าสาวให้แก่เจ้าบ่าว แยบยลในการเหล่านี้อีกมาก แล้วแต่อัธยาศัยของผู้ดำเนินการ หากกล่าวมากไปจะฟั่นเฝือ จึงขอกล่าวรวมๆว่า
ในการแต่งงานนี้เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องเตรียมการดังต่อไปนี้
1.เตรียมงบประมาณเงินเพื่อการนี้
2.ขอฤกษ์และมงคลคู่จากพระ หรือผู้รู้ที่เราเลื่อมใส
3.ติดต่อหรือจัดสถานที่ทำพิธี(หมั้น,เลี้ยงพระ,รดน้ำ, ส่งตัว)
4.จัดหาเครื่องเรือนเครืองใช้ และเสื้อผ้าชุดแต่งงาน
5.การจัดดอกไม้ที่โต๊ะหมู่บูชา และที่ขันรองน้ำสังข์
6.นิมนต์พระ และจัดรถรับส่ง
7.ติดต่อประธานในพิธี(และผู้ถอดมงคล)
8.ของขวัญ และผู้แจกของขวัญ
9.การดเชิญรดน้ำและรับประทานอาหาร,สมุดอวยพรมรายชื่อผู้ที่จะเชิญมาในงาน(แจกการ์ดก่อนวันแต่ง 7 -10 วัน เป็นเหมาะ)
10.เตรียมจัดผู้ส่งน้ำสังข์, เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว(ชาย 2 หญิง 2) ผู้ช่วยต้อนรับแขกม ผู้คอยบริการเครื่องดื่ม
อนึ่ง ในวันแต่งงาน ตอนขันหมากออกจากบ้านและลงทะเบียนนั้น จะต้องจัดหาพานใส่ธูปเทียนและดอกไม้ 1 พานใหญ่ ใส่ผ้าไหว้พ่อแม่(2 สำรับ) 1 พานใหญ่ ใส่ผ้าไหว้ผี(ผ้าขาว 1 พับ) 1 พาน อีกด้วย.
แหล่งข้อมูล: มงคลพิธี ฉบับสมบูรณ์ รวบรวมและเรียบเรียงโดย ท. ธีรานันท์
แหล่งข้อมูล: มงคลพิธี ฉบับสมบูรณ์ รวบรวมและเรียบเรียงโดย ท. ธีรานันท์