วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บวชเป็นสามเณรและบวชเป็นพระภิกษุ

บวชเป็นสามเณรและบวชเป็นพระภิกษุ


คำว่า บวช มาจาก ปว+ช แปลว่า เว้นทั่ว คือ เว้นจากกาม ในที่นี้หมายเพียงบวชเป็นสามเณรและบวชเป็นพระภิกษุเท่านั้น จุดมุ่งหมายในการบวช ก็คือการปฏิบัติเพื่อรื้อออกซึ่งทุกข์ และทำให้แจ้งซึ่งพระนฤพาน(ความดับทุกข์) อย่างไรก็ตาม การบวชได้แม้เพียงชั่วคราวก็นับว่าดี เพราะนอกจากเป็นการสืบต่อพระศาสนาแล้ว อย่างน้อยยังเป็นเหตุให้รู้จักฝึกหัดความอดทน และความเสียสละอย่างมาก อาจทำให้เข้าถึงพุทธธรรมได้โดยใกล้ชิด

ก.บวชเป็นสามเณร
สามเณร แปลว่า ผู้เป็นเชื้อสายแห่งสมณะ เมื่อเป็นสามเณรแล้วต้องถือศีล 10 คือ 1.เว้นจากการฆ่าสัตว์ทั้งมนุษย์และเดรัจฉาน 2.เว้นจากการลักทรัพย์ 3.เว้นจากเมถุนธรรม 4. เว้นจากการพูดเท็จ 5.เว้นจากการดื่มสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประหมาด 6.เว้นจากการกินอาหารในเวลาเกินเที่ยง 7.เว้นจากการฟ้อนรำขับร้องและการบรรเลง ตลอดจนการดูการฟังสิ่งเหล่านั้นซึ่งเป็นพิษ 8. เว้นจากการทัดทรงดอกไม้การใช้ของหอมเครื่องประเทืองผิว 9. เว้นจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่และยัดนุ่น 10.เว้นจากการรับเงินรับทอง นอกจากนั้นยังต้องมี ปัจจเวกขณะ คือ การพิจารณา จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช ตลอดถึงวัตรที่ควรศึกษาอันเกี่ยวด้วยมารยาท(เสขิยวัตร) อีก 75 อย่าง

สถานที่ทำพิธี เป็นกุฎีของพระอาจารย์ผู้ให้บวชก็ได้ เป็นพระอุโบสถก็ได้ มีพระอันดับตั้งแต่ 4 รูปไปก็ได้ ไม่มีก็ได้ ของใช้ในพิธีคือ
1.ไตรแบ่ง(จีวร 1 สบง 1 อังสะ 1 รัดประคดเอว 1 รัดประคดอก 1 ผ้ากราบ 1)
2.จีวร สบง อังสะ(อาศัยหรือสำรอง) ผ้าอาบ
3.ย่าม ผ้าเช็ดหน้า นาฬิกาพก หรือนาฬิกาปลุก
4.บาตร(มีเชิงรอง)
5.รองเท้า ร่ม
6.ที่นอน หมอน มุ้ง เสื่อ ผ้าห่ม
7.ชามข้าว ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ปิ่นโต
8.ขันน้ำ สบู่และกล่องสบู่ แปรงและยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว
9.ธูปเทียนดอกไม้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย ธูปเทียน ดอกไม้(หริอจะใช้เทียนแพมีกรวยดอกไม้ก็ได้ สำหรับถวายพระอาจารย์ผู้ให้บวช และจะมีเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมอื่นๆสำหรับถวายพระในพิธีนั้นอีกก็ได้ แล้วแต่ศรัทธา

ผู้บวชต้องโกนผม หนวดและคิ้ว และตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สะอาด ส่วนพิธีบวชนั้นมีอยู่ในหลักพระธรรมวินัยแล้วจะไม่พูดถึง ข้อสำคัญต้องว่า ไตรสรณคมน์ ให้ชัดถ้อยชัดคำ เพราะความเป็นสามเณรจะสำเร็จได้ด้วยไตรสรณาคมน์เท่านั้น นอกจากนั้น มีหัวข้อที่ผู้บวชจะต้องจดจำก็คือ
1.ให้บิดามารดา หรือผู้ปกครองพาไปหาพระอาจารย์ผู้ให้บวช
2.ท่องคำขอบวช สรณาคมน์ ศีลได้ด้วยตนเอง
3.หมั่นฝึกซ้อม เช่น การกราบ เป็นต้น

ข. บวชเป็นพระภิกษุ
ภิกษุ แปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร เมื่อเป็นพระภิกษุแล้วต้องถือศีล 227 ข้อ และต้องรักษาวัตรปฏิบัติอื่นอีกมาก
การบวชเป็นสมาเณรเป็นเบื้องต้นของการบวชเป็นพระภิกษุ กล่าวคือ จะบวชเป็นพระภิกษุได้ ก็ต้องบวชเป็นสามเณรก่อน เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้บวชเป็นพระภิกษุ จึงจำต้องบวชเป็นสามเณรก่อน ซึ่งมีวิธีการดังที่กล่าวแล้วข้างต้น แม้ผู้เป็นสามเณรแล้ว ก็จำต้องขอไตรสรณาคมน์และศีลใหม่ เพื่อทำให้แน่นแฟ้นขึ้น จึงดำเนินการบวชเป็นภิกษุได้ต่อไป

สถานที่ทำพิธี คือ โรงพระอุโบสถ มีพระสงฆ์รวม 28 รูป ประกอบด้วยพระอุปัชฌาย์ 1 พระกรรมวาจาจารย์ 1 พระอนุสาวนาจารย์ 1 สององค์หลังนี้ เรียกกันว่าพระคู่สวด อีก 25 รูปนอกนั้นเรียกกันว่า พระอันดับ
อัฐบริขาร และเครื่องใช้อื่นๆ ที่จำเป็นและควรจัดหามาคือ
1.ไตรครอง(จีวร 1 สบง 1 สังฆาฏิ 1 อังสะ 1 รัดประคดเอว 1 รัดประคดอก 1 ผ้ากราบ 1)
2.บาตร พร้อมทั้งเชิงรอง ฝาบาตร ถลกบาตร และสายโยค
3.มีดโกน พร้อมทั้งหินลับมีด
4.เข็มเย็บผ้า พร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย
5.เครื่องกรองน้ำ(ธมกรก)
6.เสื่อ ที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่มนอน
7.จีวร สบง อังสะ ผ้าอาบ(อาศัย)
8.ตาลปัตร ย่าม ผ้าเช็ดหน้า ร่ม รองเท้า
9.โคมไฟฟ้า ไฟฉาย นาฬิกา
10.สำรับหรือปิ่นโต คาว หวาน จานข้าว ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ
11. ที่ต้มน้ำ กาต้มน้ำ ป้านพร้อมทั้งถ้วย เหยือกน้ำและแก้วน้ำ กระติกน้ำแข็ง กระติกน้ำร้อน
12.กระโถนบ้วน กระโถนถ่าย
13.ขันอาบน้ำ สบู่และกล่องสบู่ แปรงและยาสีฟัน ผ้าขนหนู กระดาษชำระ
14.สันถัต(อาสนะ)
15.หีบไม้หรือกระเป๋าหนังสำหรับเก็บไตรครอง
1. ถึง 5. เป็นสิ่งจำเป็นมาก เรียกอัฐบริขาร แปลว่า บริขาร 8 อย่าง นับดังนี้ คือ จีวร 1 สังฆาฏิ 1 สบง 1 รัดประคด 1 บาตร 1 มีดโกน 1 เข็ม 1 เครื่องกรองน้ำ 1 ของนอกนั้นมีความจำเป็นลดน้อยลงแล้วแต่กำลังของเจ้าภาพจะจัดหามาได้

ไตร วางไว้บนพานแว่นฟ้า บาตรสวมอยู่ในถุงตะเครียวภายในบาตรใส่มีดโกน พร้อมด้วยหินลับมีดโกน เข็มพร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย และเครื่องกรองน้ำ นอกจากนั้น ยังนิยมใส่พระเครื่องรางต่างๆลงในบาตรเพื่อปลุกให้ขลังขึ้นด้วย ถ้ามีกระบวนแห่ไปสู่พระอุโบสถควรจัดกระบวน ดังนี้
1.การแสดงต่างๆ เช่น หัวโต สิงโต กระตั้วแทงเสือ(ถ้ามี)
2.แตร หรือเถิดเทิง(ถ้ามี)
3.ของถวายพระอุปัชฌาย์ คู่สวด
4.ไตรครอง ซึ่งมารดาของผู้บวชมักจะเป็นผู้ถือ(มีสัปทนกั้น)
5. ผู้บวชพนมมือถือดอกบัว 3 ดอก กับธูป 2 เทียน 1(มีสัปทนกั้น)
6.ตาลปัตร และบาตร ซึ่งบิดาของผู้บวชมักเป็นผู้ถือ
7.ของถวายพระอันดับ
8.บริขารและเครื่องใช้อย่างอื่นของผู้บวช

ถ้ามีของถวายพระอุปัชฌาย์และคู่สวดก็ต้องมีสัปทนกั้นอีก 3 คัน ของถวายพระอุปัชฌาย์มีพิเศษอย่างหนึ่ง คือ กรวยขอนิสัย ซึ่งภายในกรวยมีหมากพลูหรือเมี่ยงและบุหรี่ นอกนั้นแล้วแต่จะเห็นสมควร ควรจัดของถวายสำหรับพระอุปัชฌาย์เป็นพิเศษ รองลงมาคือคู่สวด รองลงมาอีก คือ พระอันดับ

เมื่อจัดขบวนเรียบร้อยแล้ว ก็เคลื่อนไปสู่หน้าพระอุโบสถแล้วเวียนขวารอบนอกสีมา 3 รอบ พร้อมกับเสียง โห่-ฮิ้ว เป็นระยะ เวียนครบ 3 รอบแล้ว ก็เข้าไปในภายในพระอุโบสถทั้งหมด เว้นแต่การแสดงต่างๆแตรหรือเถิดเทิง และผู้บวช ส่วนผู้จะบวชต้องวันทาสีมาหน้าพระอุโบสถเสียก่อน เสร็จแล้วโปรยทาน แล้วเข้าสู่พระอุโบสถได้ โดยมารดาบิดาหรือญาติผู้ใหญ่หรือเจ้าภาพจูง ประกอบด้วยญาติและมิตรเป็นผู้เกาะต่อๆกัน  ครั้นแล้วผู้บวชจึงไปวันทาพระประทานในพระอุโบสถด้านข้างพระหัตถ์ขวา แล้วมารับไตรครองจากมารดาบิดา หรือญาติผู้ใหญ่ หรือเจ้าภาพ ต่อจากนั้นจึงเริ่มพิธีการบวชตามหลักพระธรรมวินัยต่อไป
เมื่อบวชเป็นสมาเณรเสร็จ บิดาต้องคอยประเคนบาตรแก่สามเณรนั้น ขณะที่พระคู่สวดกำลังสวดญัตติจตุตถกรรมวาจา ห้ามมิให้อนุปสัมบันน์(ผู้มิใช่พระภิกษุ) เข้าใกล้อาสน์สงฆ์เกินกว่า 1 ศอก ทางที่ดีควรสงบอบู่กับที่ ภายหลังจากบวชเป็นพระภิกษุเสร็จแล้ว เจ้าภาพและญาติมิตรจึงถวายอัฐบริขารและเครื่องใช้อื่นๆที่สมควรแก่สมณะแก่ผู้บวชใหม่ต่อไป เสร็จแล้วพระบวชใหม่กลับขึ้นมากรวดน้ำในที่ชุมนุมสงฆ์ เป็นอันเสร็จพิธี

ข้อสำคัญที่ควรจดจำไว้คือ
1.มารดาบิดา หรือญาติผู้ใหญ่ หรือเจ้าภาพ พร้อมทั้งผู้บวช จะต้องไปติดต่อกับพระอุปัชฌาย์แต่เนิ่นๆ
2.ผู้จะบวช เรียกกันว่า อุปสัมปทาเปกข์หรือนาค มีคำบาลีที่จะต้องท่อง เรียกกันว่า ขานนาค ฉะนั้น เจ้านาคจะต้องท่องขานนาคให้คล่องแคล่ว และชัดถ้อยชัดคำ
3. หมั่นฝึกซ้อมกับพระอุปัชฌาย์ ในเรื่องระเบียบพิธีต่างๆอันเนื่องในการนี้

หมายเหตุ ในการบวชนี้ บางคนนิยมพิธีทำขวัญนาคก่อนวันบวช 1 วัน หรือทำในวันนั้น คือทำขวัญเช้า บวชบ่าย การทำขวัญก็เพื่อให้เจ้านาครู้จักคุณมารดาบิดา และมีใจศรัทธาซาบซึ้งในการบวชขึ้นอีก ในการนี้จะต้องมีอีกหลายอย่าง เช่น บายศรี แว่นเวียนเทียน ฆ้องหมุ่ย ธูปเทียน ตามแบบของหมอทำขวัญ การทำขวัญก็ดี แม้การแสดงต่างๆตลอดถึงแตร เถิดเทิงก็ดี บางคนก็ไม่นิยม ชอบเงียบๆตรงไปเข้าพระอุโบสถเลย บางคนมีแต่เพียงพิณพาทย์คอยบรรเลงที่หน้าพระอุโบสถและมีแตรสังข์เป่าอยู่หลังพระประธานในพระอุโบสถ ทั้งนี้ ต่างมีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น แล้วแต่อัธยาศัยและกาลเทศะเป็นสำคัญ ส่วนการแต่งตัวเจ้านาคมักใช้ชุดขาว นุ่งแถบผ้าถุงจีบปลายรวมไว้ด้านหน้าใส่เสื้อขาว สวมเสื้อครุยทับ

แหล่งข้อมูล: มงคลพิธี ฉบับสมบูรณ์ รวบรวมและเรียบเรียงโดย ท. ธีรานันท์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น