วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทำบุญงานมงคลธรรมดา

ทำบุญงานมงคลธรรมดา


พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธาปสาทะ ใคร่ที่จะทำบุญโดยอาราธนาภิกษุมาเจริญพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารเนื่องในงานใดๆ ซึ่งเป็นงานมงคลอันมิได้กล่าวไว้เป็นแผนกหนึ่งต่างหาก อาจทำได้เสมอ ไม่จำกัดวันหรือเดือน ความสำคัญขึ้นอยู่ที่ความสะดวกมากกว่า ทั้งจำนวนพระภิกษุก็มิได้กำหนดแน่นอนว่าต้องเท่านั้นเท่านี้รูป แล้วแต่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนผู้เป็นเจ้าภาพนั้นๆ แต่ส่วนใหญ่มักนิยมอย่างน้อย 5 รูป อย่างกลาง 9 รูป อย่างสูงเกินกว่า 9 รูป ขึ้นไป ส่วน 7 รูปเป็นที่นิยมในงานศพมากกว่าในงานมงคล และการทำบุญนั้นจะทำที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ ข้อสำคัญในเรื่องนี้ คือ
1.จัดโต๊ะหมู่บูชา ตั้งพระพุทธรูป แจกันดอกไม้ กระถางธูปและเชิงเทียน พร้อมทั้งธูปและเทียน ถ้าเป็นโต๊ะธรรมดา แจกัน 1 คู่ เชิงเทียน 1 คู่ กระถางธูป 1 กระถาง ในเมื่อใช้เทียนหน้าพระ 2 เล่ม(ขนาดพองาม)  ธูปต้อง 5 ดอก ถ้าใช้เทียน 1 ธุป 3 นี้เป็นความนิยมชนิดหนึ่ง ถ้าเป็นโต๊ะหมู่บูชา ก็มีเครื่องใช้มากกว่านี้ และมีพานจัดดอกไม้ด้วย โต๊ะหมู่บูชาหันหน้าไปทางทิศไหนก็ได้ ขอแต่เพียงให้อยู่ทางขวามือของพระภิกษุผู้เป็นประธาน และหันหน้าโต๊ะไปทางเดียวกับพระเท่านั้น ถ้าจำเป็นต้องอยู่ทางซ้าย ให้หันหน้าโต๊ะตัดหน้าพระ พระพุทธรูป ถ้าเป็นพระประจำวันของเจ้าภาพได้ก็ยิ่งดี และถ้ามีครอบเวลาทำพิธีให้เอาครอบออก

2.ตั้งบาตรทำน้ำมนต์ หรือครอบสำหรับดับเทียนก็ได้ บาตรหรือครอบนี้ใส่น้ำสะอาดให้เต็ม(น้ำห่างจากขอบประมาณ 1 นิ้วฟุตเป็นงาม) ปักเทียนน้ำมนต์ ซึ่งเป็นเทียนดี หนัก 6 สลึง ไส้ 9 เส้น 1 เล่ม ที่ขอบปากบาตร หรือที่ฝาครอบ


3.ตั้งอาสน์สงฆ์ ปูด้วยผ้าขาว แล้ววางสันถัตลงบนผ้าขาวนั้น ในระยะห่างกันพอสมควร วางกระโถน พาน หมากพลูบุหรี่เป็นรูปๆไป(หรือสองรูปต่อหนึ่งก็ได้) นอกจากนี้ จะมีขันน้ำพานรองเป็นรูปๆไปก็ได้ อย่างไรก็ดี ควรเตรียมถ้วยน้ำร้อนและแก้วน้ำเย็นไว้เพื่อใส่น้ำร้อนหรือปานะอย่างอื่นถวายพระ

4.ต้องมีสายสิญจน์ อย่างน้อยวงที่องค์พระพุทธรูป แล้วมาต่อที่บาตรน้ำมนต์ หรือครอบดับเทียน อย่างกลางวงรอบบาน อย่างมากวงรอบบริเวณบ้าน แล้วมาต่อที่องค์พระพุทธรูปและมาบรรจบที่บาตรหรือครอบ ส่วนสายสิญจน์ที่ยังเหลืออยู่ให้วางไว้บนพานข้างพระภิกษุผู้เป็นประธาน วิธีวงให้วงไปทางขวา(ทักษิณาวรรต) เฉพาะที่สายสิญจน์ที่วงรอบบ้าน หรือรอบบริเวณบ้าน เมื่อเสร็จพิธีแล้วให้เด็ด เหลือไว้เพียงวงรอบ เป็นสายสิญจน์ปริตรป้องกันภยันตราย อำนวยความสุขความเจริญแก่เจ้าภาพและผู้อยู่อาศัย

วิธีการ ถ้าทำสองวัน วันแรกเป็นวันเจริญพระพุทธมนต์ตอนเย็น เริ่มด้วยจุดธูปเทียนหน้าพระ บูชาพระรัตนตรัยแล้ว อธิษฐานจิตตามที่ปรารถนา อาราธนาศีล รับศีลแล้วอาราธนาพระปริตร ๆฟังพระสวดมนต์ต่อไป ขณะที่เริ่มสวดมงคลสูตร(อะเสวะนา จะ พาลานัง ฯลฯ) จุดเทียนน้ำมนต์แล้วประเคนบาตรหรือครอบนั้น พระสวดจบแล้วมักถวายหมากพลูซอง เรียกกันว่า หมากอังคาส แสดงว่าพรุ่งนี้มีการถวายภัตตาหาร พระกลับไปวัดโยไม่ต้องอนุโมทนา(ยะถา สัพพี)  ส่วนวันที่สองหรือวันรุ่งขึ้น มักนิมนต์ให้ฉันเช้า เพราะมีโอกาสได้ตักบาตรและถวายอาหารให้ไปฉันเพลอีกด้วย เริ่มต้นด้วยจุดธูปเทียนหน้าพระ บูชาพระรัตนตรัย เช่นวันก่อน แล้วอาราธนาศีล รับศีลแล้ว พระสวดถวายพรพระ(นะโม, อิติปิโส, พาหุง, มะหาการุณิโก, ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง) ขณะที่พระสวดจบ แล้วถวายภัตตาหาร พระฉันเสร็จ ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม จะเป็นอะไรก็ได้ ขอแต่เป็นกัปปิยภัณฑ์เท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรขาด ก็คือดอกไม้ธุปเทียนเพราะเป็นเครื่องหมายแห่งสักการะ มิใช่ค่าจ้าง เสร็จแล้วกรวดน้ำ พระอนุโมทนา หลังจากนั้น อาราธนาพระภิกษุผู้เป็นประธาน ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่บุคคลและสถานที่อยู่เป็นเสร็จพิธี

หมายเหตุ  ปัจจุบันนี้ บางคนแม้นิยมทำสองวัน แต่ถึงเวลาฉันนิมนต์ให้ฉันเพล ในกรณีนี้ไม่มีการตักบาตร บางคนนิยมทำวันเดียว พระเจริญพระพุทธมนต์ และสวดถวายพรพระเสร็จในตัว เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 10.15 น. เป็นเหมาะ ในกรณีทำสองวัน บทสวดวันแรก คือ นะโม, พุทธัง ,โย จักขุมา. (หรือ สัมพุทเธ) นะโม อะระหะโต, อเสวะนา ,ยังกิญจิ (ดับเทียนน้ำมนต์ตอน นิพพันติ...) เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง, อัปปะมาโณ พุทโธ, อัตถิ โลเก, อิติปิ โส.,วิปัสสิสสะ, ยะโตหัง (ติดกับ โพชฌังโค) ยันทุนนิมิตตัง, สักกัตวา พุทธะระตะนัง (ต่อด้วย นัตถิ เม) ทุกขัปปัตตา, สัพเพ พุทธา ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง,นักขัตตะยักขะภูตานัง  วันที่สองเริ่มด้วย นะโม, อิติปิโส, พาหุง, มหาการุณิโก, ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง. ในกรณีทำวันเดียว บทสวดก็เหมือนบทสวดในกรณีทำสองวัน(เฉพาะวันแรก) มีที่ต่างคือ จาก สัพเพ พุทธา. ต่อด้วย พาหุง, มะหาการุณิโก, ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง, ไม่มี นักขัตตะยักขะภูตานัง


แหล่งข้อมูล: มงคลพิธี ฉบับสมบูรณ์ รวบรวมและเรียบเรียงโดย ท. ธีรานันท์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น