สึก
การที่พระภิกษุเบื่อหน่ายต่อเพศพรหมจรรย์ แล้วลาเสียจากภิกษุภาวะ เรียกว่า สึก คำว่า สึก คงจะเพี้ยนมาจากคำว่า ลาสิก คือ ลาสิกขานี่เอง สิกขานั้นได้แก่ข้อที่ควรศึกษาหรือสำเหนียกตามภาวะของนักบวชนั่นเอง เพราะฉะนั้น การสึกจึงตรงกันข้ามกับการบวช การลาบวชคนไทยชอบมาก เพราะถือว่าได้บุญ การลาสึก ไม่ค่อยชอบแต่ถือเป็นเรื่องสำคัญแก่ชีวิตชนิดหนึ่ง เพราะเวลาบวชไม่ได้หาฤกษ์ยาม แต่เวลาสึกต้องหาฤกษ์ยาม โยถือว่า ถ้าสึกออกไปในฤกษ์ไม่ดี อาจเสียคน เช่น เป็นบ้า เป็นต้น
ฉะนั้น ผู้ที่จะสึก จึงควรไปหาท่านผู้รู้ขอฤกษ์สึก และฤกษ์เข้าบ้าน เมื่อได้ฤกษ์ ต้องไปขอความกรุณาจากพระผู้ใหญ่หรือผู้สามารถให้เป็นประธาน เพื่อจะได้สึกกับท่านตามวันและเวลานั้นๆและต้องนิมนต์พระมา ชะยันโต อีก 5 รูป
วิธีการ ก่อนจะสึก 1 วัน ต้องนำดอกไม้ธูปเทียนไปทำวัตรอุปัชฌาย์ คู่สวด และพระที่เคารพนับถืออื่นๆตามสมควร นอกจากนี้จะต้องนำเครื่องทำน้ำมนต์ บาตรใส่น้ำพร้อมทั้งเชิงรอบบาตร ดอกไม้ 5 กระทง ข้าวตอก 5 กระทง เทียน 5 เล่ม ธูป 5 ดอก ไปที่กุฏิของพระผู้เป็นประธานนั้น ตกตอนกลางคืนเวลาสงัดหรือฤกษ์ดีในวันนั้น ท่านก็ทำน้ำมนต์ให้เรียบร้อย
ก่อนถึงฤกษ์เพียงเล็กน้อย พระผู้จะสึก ต้องปลงอาบัติ เสร็จแล้ว ทำวัตรพระ(อุกาสะ วันทามิ ฯลฯ) ณ เบื้องพระพักตร์พระพุทธรูป เสร็จแล้วจุดเทียน 3 เล่ม ปักที่ปากบาตรน้ำมนต์(และจุดธูป 3 ดอก ปักไว้ที่กระถางธูปหน้าพระ) วางข้าวตอดดอกไม้อย่างละ 3 กระทงบูชาพระรัตนตรัย แล้วจุดธูปเทียนอีกอย่างละ 1 วางข้าวตอกดอกไม้อย่างละ 1 กระทง บูชาคุณบิดามารดา เสร็จแล้วจุดธูปเทียนอีกอย่างละ 1 วางข้าวตอกดอกไม้อย่างละ 1 กระทง บูชาคุณอุปัชฌาย์อาจารย์
เมื่อได้ฤกษ์ ให้ผู้จะสึกปฏิญาณต่อหน้าสงฆ์ว่า สิกขัง ปัจจักขามิ ข้าพเจ้าบอกคืนสิกขาเดี๋ยวนี้
(ว่าซ้ำแต่ตัวบาลีอีก 3-4 ครั้ง) แล้วว่า
วินะยัง ปัจจักขามิ ข้าพเจ้าบอกคืนพระวินัยเดี๋ยวนี้
(ว่าซ้ำแต่ตัวบาลี 3-4 ครั้ง) แล้วว่า
ปาติโมกขัง ปัจจักขามิ ข้าพเจ้าบอกคืน พระปาติโมกข์เดี๋ยวนี้
(ว่าซ้ำแต่ตัวบาลีอีก 3ข4 ครั้ง) แล้วว่า
คิหีติ มัง ธาเรถะ ท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์บัดนี้
(ว่าซ้ำแต่บัวบาลี 3-4 ครั้ง) แล้วว่า
อุปาสะโกติ มัง ธาเรถะ ท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นอุบาสกดังนี้
(ว่าซ้ำแต่ตัวบาลี 3-4 ครั้ง)
เสร็จแล้วหันหน้าเข้าสู่พระพุทธรูป บริกรรมในใจว่า สิกขัง ปัจจักขามิ เพื่อให้ใจประกอบด้วย ปีติ หรือ สุข หรือ แนวแน่ เมื่อเห็นว่าใจเป็นเช่นนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงค่อยอธิษฐานใจ เพื่อให้เจริญในทางนั้นๆเหมือนกับคนนั้นๆจริงๆ๖คือมีตัวอย่างประกอบ) แล้วแก้รัดประคดอกออก แต่นั้นพระผู้เป็นประธาน ก็ชักผ้าสังฆาฏิออก พระนอกนั้นชะยันโต ผู้ลาสึกกราบพระพุทธรูปและพระสงฆ์ แล้วออกไปเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว กลับเข้ามาที่บาตรน้ำมนต์ พระผู้เป็นประธาน ลงยันต์ที่ศีรษะด้วยดอกบัวในบาตร แล้วเสกเป่าสำทับที่ศีรษะของเขาอีกครั้งหนึ่ง
ต่อแต่นั้นทิดสึกใหม่ ก็ถือบาตรน้ำมนต์ออกไปข้างนอก พระ 5 รูปออกไปนั่งรอ พระผู้เป็นประธานเอามะกรูด ดอกบัว ใบเงินใบทองถูที่ศีรษะ หน้า และตามตัวของทิดสึกใหม่ เสร็จแล้วให้เขาดื่มน้ำมนต์และพนมมือหันหน้าไปสู่มงคลทิศ แล้วผู้เป็นประธานก็รดน้ำมนต์ พระชะยันโต จบลงด้วย ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง ต่อจากนั้น ทิดสึกใหม่ก็แต่งตัวเรียบร้อย ไปขอศีล 5 กับพระผู้เป็นประธาน เป็นเสร็จพิธีแต่เพียงนี้
ครั้นถึงฤกษ์เข้าบ้าน ให้ทิดสึกใหม่ไปลาพระที่ตนเคยอยู่ร่วมด้วย ขอพรแล้วออกเดินทางตรงไปเข้าบ้าน ถึงบ้านแล้วให้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วอธิษฐานและไหว้มารดาบิดา หรือผู้ใหญ่ ขอศีล ขอพร เสร็จแล้วลงไปบูชาพระภูมิ แล้วอธิษฐานกลับขึ้นไปบนบ้าน บ่ายหน้าสูมงคลทิศประมาณ 1 นาที เป็นเสร็จการ.
แหล่งข้อมูล : มงคลพิธี ฉบับสมบูรณ์ รวบรวมและเรียบเรียงโย ท. ธีรานันท์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น