วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ลงเข็มปลูกบ้านเรือน

ลงเข็มปลูกบ้านเรือน

พิธีนี้  ใช้แทนพิธียกเสาในสมัยก่อน เพราะในสมัยก่อน การปลูกบ้านเรือน ไม่ค่อยมีการลงเข็ม ส่วนในสมัยนี้มีการลงเข็มเป็นพื้น จึงนิยมลงเข็มกันเป็นส่วนมาก


พิธีมักทำใกล้ๆกับหลุมที่จะลงเข็ม ใช้พระรูปเดียวก็ได้ สองรูปก็ได้ ห้ารูปหรือเก้ารูปก็ได้ มักไม่มีการสวดมนต์ในพิธี แต่ถ้าฤกษ์ใกล้กับเวลาฉัน จะถวายอาหารเช้าหรืออาหารเพลก็ได้แล้วแต่กรณี เบื้องแรกที่สุด ต้องไปขอฤกษ์วันลงเข็ม ผู้รู้จะบอกให้ทราบว่าลงเข็มหลุมทิศไหนก่อน ต่อจากนั้นจึงไปติดต่อกับช่างผู้จะตีเข็มในวันนั้น และกำชับกำชาให้ดีอย่าให้เสียฤกษ์ได้ เขาจะได้ขุดหลุมและเสี้ยมเสาเข็มไว้ล่วงหน้า และทำการได้ตรงตามฤกษ์


ถ้าเป็นบ้านที่อยู่อาศัย พิธีมักทำในเดือนคู่(เว้นเดือน ๘) ห้ามเดือนคี่(แต่เดือน ๙ อนุญาตให้ทำได้) ถ้ามิใช่บ้านที่อยู่อาศัย จะทำในเดือนใดก็ได้ ขอให้เป็นเพียงฤกษ์ดีเท่านั้น มีข้อสำคัญที่จะพึงจำในพิธีนี้ก็คือ

๑.      จัดโต๊ะไว้สองตัว ปูด้วยผ้าขาว ตัวหนึ่งเล็ก วางแจกันปักดอกไม้ ๑ คู่ เชิงเทียนพร้อมทั้งเทียน ๑ คู่ กระถางธูปพร้อมทั้งธูป ๕ ดอก สำหรับบูชาพระรัตนตรัยและท่านผู้มีคุณ อีกตัวหนึ่งค่อนข้างใหญ่วางเครื่องสังเวย เชิงเทียนพร้อมทั้งเทียนหนักเล่มละ ๖ สลึง ไส้ ๙ เส้น ๑ คู่ และธูปเทียน(ดอกเล็ก) มีจำนวนเท่ากับของเครื่องสังเวย
๒.      เตรียมเก้าอี้ไว้สำหรับพระผู้ทำพิธี และโต๊ะวางสิ่งของอื่นๆในพิธี ถ้าแดดร้อนเตรียมหาเครื่องมุงสำหรับพระด้วย
๓.      หาของที่ต้องใช้ในพิธีไว้ให้พร้อม คือ น้ำมนต์ ทราย ๑ ถัง เศษเงินเศษทองเล็กน้อย กระแจะสำหรับเจิม ทองคำเปลวมีจำนวน ๓ แผ่นต่อเสาเข็ม ๑ ตัน(ถ้าหลุมนั้นมีเข็ม ๕ ต้นต้องเตรียมไว้ ๑๕ แผ่น) ดินสอดำ(สำหรับลงยันต์) กระเทียมปอกเปลือก ๑๐ กลีบ(สำหรับทาปิดทอง) ใบไม้พรมน้ำมนต์และภาชนะตักน้ำมนต์
วิธีการ เมื่อถึงปฐมฤกษ์ พระจะลงยันต์ที่ปลายเข็มปิดทองเจิมและพรมน้ำมนต์แล้วเสกทราย ในขณะเดียวกัน ผู้เป็นเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ณ โต๊ะซึ่งเตรียมไว้ เสร็จแล้วอธิษฐานแล้วมาจุดธูปเทียนที่อีกโต๊ะหนึ่ง จุดธูปที่ปักเครื่องสังเวยทุกอย่าง บูชาเทวดาเสร็จแล้วอธิษฐานเช่นเดียวกัน ต่อจากนั้น พระจะไปโปรยทรายและเทน้ำมนต์ลงในหลุม แล้วหย่อนเศษเงินทองลงในหลุม ช่างทำการตีเข็มต่อไป พระจะชะยันโต ฯลฯ (๓ หน) และจบลงด้วย สัพเพ พุทธา ฯลฯ สัพพะโส (๓ หน) และ ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง ฯลฯ ภะวันตุ เต ส่วนทรายและน้ำมนต์ที่เหลือใช้โปรยและเทลงหลุมอื่นๆ เป็นเสร็จพิธี

โกนผมไฟ

โกนผมไฟ
เมื่อเด็กเกิดได้ไม่ต่ำกว่า ๑ เดือน มักนิยมโกนผมไฟ พิธีการอย่างแบบพระ มีไม่มากเท่าไรนัก ข้อสำคัญ คือ

๑.หาวันและเวลาโกนผมไฟจากผู้รู้
๒.อาราธนาพระมาสวดมนต์และฉัน
๓.จัดที่บูชาอย่างทำบุญมงคลธรรมดา

ส่วนเครื่องใช้พิเศษก็คือ กระแจะสำหรับเจิม ด้านสายสิญจน์สำหรับผูกมือ ผูกเท้าเด็ก กรรไกร กรรบิดเงินทอง ใบบอน จัดใส่ไว้ในพานวางไว้ที่ข้างที่บูชา วงด้วยสายสิญจน์ นี้เป็นอย่างน้อย อย่างมากมักจัดโต๊ะล้างหน้า ประกอบด้วยสังข์ กรรไกร กรรบิดเงิน ใบบอน วางไว้ข้างที่บูชา วงด้วยสายสิญจน์ และมีบายศรีปากชาม ๑ ที่

พิธีการ เวลาพระสวดมนต์ เอาเด็กอยู่ในวงรอบของสายสิญจน์ พ่อแม่เด็กเป็นคนจุดธูปเทียนหน้าพระ นอกจากนั้นเมื่อได้ฤกษ์ ถ้าเป็นชาย ให้พระเป็นผู้หัวหน้าตัดผมเล็กน้อยพอเป็นพิธี เจิมหน้าและผูกมือผูกเท้าพระนอกนั้น ชะยันโต ฯลฯ ๓ จบ นอกนั้น ญาติผู้ใหญ่หรือผู้มีเกียรติอื่นๆ ตัดผมเด็กพอเป็นพิธีเป็นลำดับไป ถ้าเป็นเด็กผู้หญิง เป็นเรื่องของฆราวาสจะพึงทำตามลำดับ พระจะทำเพียงประพรมน้ำมนต์ให้เท่านั้น ในการตัดหรือขริบผมนั้น ต้องเอากรรไกรหรือกรรบิดจุ่มในน้ำมนต์ก่อนเสมอ เมื่อพระสวดอนุโมทนาและเจ้าภาพกรวดน้ำแล้ว เป็นเสร็จพิธี

หมายเหตุ ในสมัยก่อน เมื่อตัดหรือขริบผมแล้ว มักพาเด็กไปโกนผมด้วย แต่เดี๋ยวนี้ไม่นิยมแล้ว ในกรณีที่มีบายศรีเวลาตัดเสร็จ มักเอา(ไข่แดง) ที่ยอดบายศรีให้เด็กกินด้วย ผมที่ตัดที่ขริบหรือโกนแล้ว มักนิยมวางไว้ที่ใบบอน เสร็จพิธีแล้วจึงนำไปลอยน้ำ พิธีนี้บางรายก็ใช้พราหมณ์มาทำพิธีด้วย พิธีพราหมณ์มีของพิเศษอีกหลายอย่าง เช่น สังข์และบัณเฑาะว์ มะพร้าวเงิน มะพร้าวทอง เป็นต้น และวิธีการก็แตกต่างกันไปจากที่กล่าวแล้ว

แหล่งข้อมูล: มงคลพิธี ฉบับสมบูรณ์ รวบรวมและเรียบเรียงโดย ท. ธีรานันท์

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แต่งงาน

แต่งงาน



เมื่อหญิงชายต่างมีฉันทะร่วมกันในอันที่จะครองเรือนแล้ว ฝ่ายชายจะส่งคนไปสู่ขอกับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเสียชั้นหนึ่งก่อน ต่อจากนั้น ก็กำหนดวันหมั้น ของหมั้นมักเป็นแหวน ในการหมั้นไม่ค่อยมีพิธีรีตองอะไรมากนัก ผู้ไปหมั้นที่เรียกว่าเถ้าแก่ เชิญขันหมากไปถึงแล้ว ก็กล่าวคำเป็นที่เจริญใจ และบอกความประสงค์ว่า ขอหมั้น(หญิงชื่อนี้)...... ซึ่งเป็นธิดาของ.... ให้กับ(ชายชื่อนี้) ซึ่งเป็นบุตรของ.... แล้วมอบแหวนหมั้นให้กับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง ปัจจุบันนี้ บางรายให้ผู้ชายสวมแหวนที่นิ้วมือของผู้หญิงเลยทีเดียวก็มี


วิธีจัดขันหมาก ให้จัดเป็น 2 ขัน เรียกว่า 1 คู่ ขันหนึ่งใช้พลู 8 เรียง เรียงละ 8 ใบ ซ้อนตัดก้านให้เสมอเท่ากัน ทาก้านใบพลู 8  เรียงนั้นด้วยชาดแดง แล้ววางลงรอบขันหันเอาปลายใบพลูขึ้นปากขันหมาก ตัดให้ติดกันเป็นคู่ๆ ทาก้านที่ตัดด้วยชาดแดง ใส่ยอดรัก ยอดใบเงิน ยอดใบทอง สิ่งละ 3 ยอด ข้าวเปลือก 1 ถุง ถั่วเขียว 1 ถุง งาดำ 1 ถุง ส่วนอีกขันหนึ่ง ใช้พลู 9 เรียง หมาก 9 คู่(ตัดก้นเล็กน้อยทาด้วยสีแดง) นอกนั้นใช้ของเช่นเดียวกับขันแรก ส่วนอีกขันหนึ่ง เป็นขันของหมั้นหรือสินสอด ใส่ยอดรัก 3 ยอด ยอดใบเงิน 3 ยอด ยอดใบทอง 3 ยอด ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก ดอกดาวเรือง มีจำนวนพองาม ข้าวเปลือก 1 ถุง ถั่วเขียว 1 ถุง งาดำ 1 ถุง เศษเงินเศษทอง สุดแต่จะใส่ไม่จำกัด ในขณะที่เรียงของต่างๆลงในขัน ให้อธิษฐานอวยพรไปในตัว


ทางผู้ใหญ่ฝ่ายผู้หญิง ควรเตรียมของชำร่วยแก่คนทุกคนที่มากับฝ่ายผู้ชายในวันหมั้น ภายหลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงกำหนดวันแต่งงาน ซึ่งแยกเป็นรายการ 3 ตอน คือ ตอน 1 ขันหมากออกจากบ้านหรือลงทะเบียน ตอน 2 รดน้ำ ตอน 3 ปูที่นอน เรียงหมอนแล้วส่งตัว การหมั้นก็ดี รายการทั้ง 3 ตอนในวันแต่งงานก็ดี ขึ้นอยู่กับฤกษ์งามยามดี ซึ่งจำต้องไปขอจากท่านผู้รู้ การแต่งงานนี้ มักทำในเดือนคู่ เว้นเดือน 8 ห้ามทำในเดือนคี่ ยกเว้นเดือน 9 ซึ่งอนุญาตให้ทำได้


ปัจจุบัน พิธีการซึ่งเกี่ยวกับพระ ก็คืออาราธนาพระ 9 รูปเจริญพระพุทธมนต์แล้วฉันเช้าในวันเดียวเสร็จ เจ้าบ่าวเจ้าสาวตกบาตรร่วมกัน ตอนพระสวด พาหุง หลังจากนั้นไม่เกี่ยวกับพระ เป็นเรื่องของฆราวาสโดยเฉพาะ ความนิยมอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนับสนุนก็คือ ถวายอาหารเบามื้อเช้า ส่วนข้าวในบาตรพร้อมทั้งของที่ฝาบาตร และอาหารคาวหวาน จัดใส่ปิ่นโตถวายเพื่อให้นำกลับไปฉันเพลต่อไป เป็นความสะดวกดีอยู่

การจัดที่บูชา คงเป็นอย่างทำบุญงานมงคลธรรมดา มีที่แปลก ก็คือ นำโต๊ะล้างหน้าซึ่งใส่ สังข์รดน้ำ โถปริก เครื่องเจิม ขันน้ำมนต์ และมงคลแฝด มาตั้งไว้ข้างโต๊ะหมู่บูชา วงด้วยสายสิญจน์ เวลาจุดธูปเทียน แบ่งจุดเทียนคนละเล่ม จุดธูปคนละ 2 ดอก บางรายใช้เทียนมงคลคนละเล่มแทน ของใครใครจุด แต่เทียนแบบนี้ห้ามให้หมดไปเอง ต้องระวังอย่าให้ดับด้วยเหตุอื่นๆ ไม่เหมือนเทียนธรรมดา ซึ่งดับได้เมื่อเสร็จพิธีพระ ส่วนที่กรวดน้ำใช้ที่เดียวกันกรวดด้วยกัน เวลาพรมน้ำมนต์ให้เข้าไปพร้อมๆกัน พนมมือก้มลงรับน้ำมนต์ พระจะสวดชะยันโต ฯลฯ ต่อด้วย สัพเพ ฯลฯ  สัพพะโส 3 จบ เป็นเสร็จพิธีที่เนื่องด้วยพระ จากนี้จะได้กล่าวถึงพิธีที่เนื่องด้วยฆราวาสต่อไป

ในการหมั้นนั้น บางรายต้องรอการแต่งเป็นปีๆ บางราบจอรนครบ 1 ปี จึงแต่ง บางรายครึ่งปี บางรายเดือนเดียว บางรายรวดเร็วมากคือหมั้นวันนั้นแต่งวันนั้น แต่มีน้อยรายไม่ชอบหมั้น แต่งก็แต่งกันเลย ในกรณีเหล่านี้ ต่างมีเหตุผลไปคนละอย่าง ทางที่ดีนั้นควรมีการหมั้น แต่อย่าให้เนิ่นนานเกินไป หากมีเหตุการณ์จะให้แต่งเร็วไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งหมั้น ดูแลคบกันไปก่อนในลักษณะที่สมควร เมื่อถึงวันแต่ง ในสถานที่รดน้ำ พึงตั้งโต๊ะหมู่บูชา มีพระพุทธรูป เครื่องตั้งเครื่องบูชา พร้อม(แบบทำบุญงานมงคลธรรมดา) จะตั้งหันหน้าไปทางทิศไหน ก็ได้ดูสมแก่สถานที่ ตั้งโต๊ะรดน้ำพร้อมด้วยเครื่องรดน้ำ โดยหันหน้าเจ้าบ่าวเจ้าสาวสู่ทิศที่เป็นมงคลในวันนั้น เมื่อถึงเวลารดน้ำ เจ้าบ่าวเจ้าสาวจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยที่โต๊ะหมู่บูชา เช่นเดียวกับตอนเลี้ยงพระเช้า แล้วกลับมานั่งที่โต๊ะรดน้ำ(ผู้ชายนั่งทางขาวมือของผู้หญิง) พนมมือรอรับน้ำสังข์


ผู้เป็นประธานในพิธี ไปกราบที่โต๊ะหมู่บูชาก่อน แล้วจึงไปเจิมหน้าผากเจ้าบ่าวเจ้าสาว สวมมงคลคู่ และคล้องพวงมาลัยแล้วเริ่มรดน้ำสังข์เป็นคนแรก ต่อจากนั้นคนอื่นๆขึ้นไปรดโดยลำดับ(การรดน้ำสังข์ ควรใชมือทั้งสองจับสังข์) รดเสร็จหมดแล้ว มีผู้ใหญ่คนหนึ่งถอดมงคลคู่ แล้วเจ้าบ่าวเจ้าสาวลุกขึ้นไปกราบที่โต๊ะหมู่บูชา เป็นเสร็จพิธีรดน้ำ ต่อมามีการเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งมักเริ่มแต่เวลา 18ใ30 น. หรือ 19.00 น. ในการนี้บางทีก็มีดนตรีบรรเลง บางทีก็ไม่มี แต่มักมีผู้กล่าวคำอวยพรแก่คู่บ่าวสาวในนามของแขกที่ได้รับเชิญ ส่วนในการปูที่นอนเรียงหมอน ต้องให้ผู้ใหญ่ที่เป็นคู่สามีภรรยาที่อยู่กันยั่งยืนและรุ่งเรืองเป็นผู้ดำเนินการ จากนั้นจึงมีการส่งตัวเจ้าสาวให้แก่เจ้าบ่าว แยบยลในการเหล่านี้อีกมาก แล้วแต่อัธยาศัยของผู้ดำเนินการ หากกล่าวมากไปจะฟั่นเฝือ จึงขอกล่าวรวมๆว่า

ในการแต่งงานนี้เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องเตรียมการดังต่อไปนี้
1.เตรียมงบประมาณเงินเพื่อการนี้
2.ขอฤกษ์และมงคลคู่จากพระ หรือผู้รู้ที่เราเลื่อมใส
3.ติดต่อหรือจัดสถานที่ทำพิธี(หมั้น,เลี้ยงพระ,รดน้ำ, ส่งตัว)
4.จัดหาเครื่องเรือนเครืองใช้ และเสื้อผ้าชุดแต่งงาน
5.การจัดดอกไม้ที่โต๊ะหมู่บูชา และที่ขันรองน้ำสังข์
6.นิมนต์พระ และจัดรถรับส่ง
7.ติดต่อประธานในพิธี(และผู้ถอดมงคล)
8.ของขวัญ และผู้แจกของขวัญ
9.การดเชิญรดน้ำและรับประทานอาหาร,สมุดอวยพรมรายชื่อผู้ที่จะเชิญมาในงาน(แจกการ์ดก่อนวันแต่ง 7 -10 วัน เป็นเหมาะ)
10.เตรียมจัดผู้ส่งน้ำสังข์, เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว(ชาย 2 หญิง 2) ผู้ช่วยต้อนรับแขกม ผู้คอยบริการเครื่องดื่ม

อนึ่ง ในวันแต่งงาน ตอนขันหมากออกจากบ้านและลงทะเบียนนั้น จะต้องจัดหาพานใส่ธูปเทียนและดอกไม้ 1 พานใหญ่ ใส่ผ้าไหว้พ่อแม่(2 สำรับ) 1 พานใหญ่ ใส่ผ้าไหว้ผี(ผ้าขาว 1 พับ) 1 พาน อีกด้วย.

แหล่งข้อมูล: มงคลพิธี ฉบับสมบูรณ์ รวบรวมและเรียบเรียงโดย ท. ธีรานันท์

สึก

สึก


การที่พระภิกษุเบื่อหน่ายต่อเพศพรหมจรรย์ แล้วลาเสียจากภิกษุภาวะ เรียกว่า สึก คำว่า สึก คงจะเพี้ยนมาจากคำว่า ลาสิก คือ ลาสิกขานี่เอง สิกขานั้นได้แก่ข้อที่ควรศึกษาหรือสำเหนียกตามภาวะของนักบวชนั่นเอง เพราะฉะนั้น การสึกจึงตรงกันข้ามกับการบวช การลาบวชคนไทยชอบมาก เพราะถือว่าได้บุญ การลาสึก ไม่ค่อยชอบแต่ถือเป็นเรื่องสำคัญแก่ชีวิตชนิดหนึ่ง เพราะเวลาบวชไม่ได้หาฤกษ์ยาม แต่เวลาสึกต้องหาฤกษ์ยาม โยถือว่า ถ้าสึกออกไปในฤกษ์ไม่ดี อาจเสียคน เช่น เป็นบ้า เป็นต้น


ฉะนั้น ผู้ที่จะสึก จึงควรไปหาท่านผู้รู้ขอฤกษ์สึก และฤกษ์เข้าบ้าน เมื่อได้ฤกษ์ ต้องไปขอความกรุณาจากพระผู้ใหญ่หรือผู้สามารถให้เป็นประธาน เพื่อจะได้สึกกับท่านตามวันและเวลานั้นๆและต้องนิมนต์พระมา ชะยันโต อีก 5 รูป


วิธีการ ก่อนจะสึก 1 วัน ต้องนำดอกไม้ธูปเทียนไปทำวัตรอุปัชฌาย์ คู่สวด และพระที่เคารพนับถืออื่นๆตามสมควร นอกจากนี้จะต้องนำเครื่องทำน้ำมนต์ บาตรใส่น้ำพร้อมทั้งเชิงรอบบาตร ดอกไม้ 5 กระทง ข้าวตอก 5 กระทง เทียน 5 เล่ม ธูป 5 ดอก ไปที่กุฏิของพระผู้เป็นประธานนั้น ตกตอนกลางคืนเวลาสงัดหรือฤกษ์ดีในวันนั้น ท่านก็ทำน้ำมนต์ให้เรียบร้อย


ก่อนถึงฤกษ์เพียงเล็กน้อย พระผู้จะสึก ต้องปลงอาบัติ เสร็จแล้ว ทำวัตรพระ(อุกาสะ วันทามิ ฯลฯ) ณ เบื้องพระพักตร์พระพุทธรูป เสร็จแล้วจุดเทียน 3 เล่ม ปักที่ปากบาตรน้ำมนต์(และจุดธูป 3 ดอก ปักไว้ที่กระถางธูปหน้าพระ) วางข้าวตอดดอกไม้อย่างละ 3 กระทงบูชาพระรัตนตรัย แล้วจุดธูปเทียนอีกอย่างละ 1 วางข้าวตอกดอกไม้อย่างละ 1 กระทง บูชาคุณบิดามารดา เสร็จแล้วจุดธูปเทียนอีกอย่างละ 1 วางข้าวตอกดอกไม้อย่างละ 1 กระทง บูชาคุณอุปัชฌาย์อาจารย์


เมื่อได้ฤกษ์ ให้ผู้จะสึกปฏิญาณต่อหน้าสงฆ์ว่า สิกขัง ปัจจักขามิ ข้าพเจ้าบอกคืนสิกขาเดี๋ยวนี้
(ว่าซ้ำแต่ตัวบาลีอีก 3-4 ครั้ง) แล้วว่า
วินะยัง ปัจจักขามิ ข้าพเจ้าบอกคืนพระวินัยเดี๋ยวนี้
(ว่าซ้ำแต่ตัวบาลี 3-4 ครั้ง) แล้วว่า
ปาติโมกขัง ปัจจักขามิ ข้าพเจ้าบอกคืน พระปาติโมกข์เดี๋ยวนี้
(ว่าซ้ำแต่ตัวบาลีอีก 3ข4 ครั้ง) แล้วว่า
คิหีติ มัง ธาเรถะ ท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์บัดนี้
(ว่าซ้ำแต่บัวบาลี 3-4 ครั้ง) แล้วว่า
อุปาสะโกติ มัง ธาเรถะ ท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นอุบาสกดังนี้
(ว่าซ้ำแต่ตัวบาลี 3-4 ครั้ง)


เสร็จแล้วหันหน้าเข้าสู่พระพุทธรูป บริกรรมในใจว่า สิกขัง ปัจจักขามิ เพื่อให้ใจประกอบด้วย ปีติ หรือ สุข หรือ แนวแน่ เมื่อเห็นว่าใจเป็นเช่นนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงค่อยอธิษฐานใจ เพื่อให้เจริญในทางนั้นๆเหมือนกับคนนั้นๆจริงๆ๖คือมีตัวอย่างประกอบ) แล้วแก้รัดประคดอกออก แต่นั้นพระผู้เป็นประธาน ก็ชักผ้าสังฆาฏิออก พระนอกนั้นชะยันโต ผู้ลาสึกกราบพระพุทธรูปและพระสงฆ์ แล้วออกไปเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว กลับเข้ามาที่บาตรน้ำมนต์ พระผู้เป็นประธาน ลงยันต์ที่ศีรษะด้วยดอกบัวในบาตร แล้วเสกเป่าสำทับที่ศีรษะของเขาอีกครั้งหนึ่ง


ต่อแต่นั้นทิดสึกใหม่ ก็ถือบาตรน้ำมนต์ออกไปข้างนอก พระ 5 รูปออกไปนั่งรอ พระผู้เป็นประธานเอามะกรูด ดอกบัว ใบเงินใบทองถูที่ศีรษะ หน้า และตามตัวของทิดสึกใหม่ เสร็จแล้วให้เขาดื่มน้ำมนต์และพนมมือหันหน้าไปสู่มงคลทิศ แล้วผู้เป็นประธานก็รดน้ำมนต์ พระชะยันโต จบลงด้วย ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง ต่อจากนั้น ทิดสึกใหม่ก็แต่งตัวเรียบร้อย ไปขอศีล 5 กับพระผู้เป็นประธาน เป็นเสร็จพิธีแต่เพียงนี้


ครั้นถึงฤกษ์เข้าบ้าน ให้ทิดสึกใหม่ไปลาพระที่ตนเคยอยู่ร่วมด้วย ขอพรแล้วออกเดินทางตรงไปเข้าบ้าน ถึงบ้านแล้วให้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วอธิษฐานและไหว้มารดาบิดา หรือผู้ใหญ่ ขอศีล ขอพร เสร็จแล้วลงไปบูชาพระภูมิ แล้วอธิษฐานกลับขึ้นไปบนบ้าน บ่ายหน้าสูมงคลทิศประมาณ 1 นาที เป็นเสร็จการ.

แหล่งข้อมูล : มงคลพิธี ฉบับสมบูรณ์ รวบรวมและเรียบเรียงโย ท. ธีรานันท์

บวชเป็นสามเณรและบวชเป็นพระภิกษุ

บวชเป็นสามเณรและบวชเป็นพระภิกษุ


คำว่า บวช มาจาก ปว+ช แปลว่า เว้นทั่ว คือ เว้นจากกาม ในที่นี้หมายเพียงบวชเป็นสามเณรและบวชเป็นพระภิกษุเท่านั้น จุดมุ่งหมายในการบวช ก็คือการปฏิบัติเพื่อรื้อออกซึ่งทุกข์ และทำให้แจ้งซึ่งพระนฤพาน(ความดับทุกข์) อย่างไรก็ตาม การบวชได้แม้เพียงชั่วคราวก็นับว่าดี เพราะนอกจากเป็นการสืบต่อพระศาสนาแล้ว อย่างน้อยยังเป็นเหตุให้รู้จักฝึกหัดความอดทน และความเสียสละอย่างมาก อาจทำให้เข้าถึงพุทธธรรมได้โดยใกล้ชิด

ก.บวชเป็นสามเณร
สามเณร แปลว่า ผู้เป็นเชื้อสายแห่งสมณะ เมื่อเป็นสามเณรแล้วต้องถือศีล 10 คือ 1.เว้นจากการฆ่าสัตว์ทั้งมนุษย์และเดรัจฉาน 2.เว้นจากการลักทรัพย์ 3.เว้นจากเมถุนธรรม 4. เว้นจากการพูดเท็จ 5.เว้นจากการดื่มสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประหมาด 6.เว้นจากการกินอาหารในเวลาเกินเที่ยง 7.เว้นจากการฟ้อนรำขับร้องและการบรรเลง ตลอดจนการดูการฟังสิ่งเหล่านั้นซึ่งเป็นพิษ 8. เว้นจากการทัดทรงดอกไม้การใช้ของหอมเครื่องประเทืองผิว 9. เว้นจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่และยัดนุ่น 10.เว้นจากการรับเงินรับทอง นอกจากนั้นยังต้องมี ปัจจเวกขณะ คือ การพิจารณา จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช ตลอดถึงวัตรที่ควรศึกษาอันเกี่ยวด้วยมารยาท(เสขิยวัตร) อีก 75 อย่าง

สถานที่ทำพิธี เป็นกุฎีของพระอาจารย์ผู้ให้บวชก็ได้ เป็นพระอุโบสถก็ได้ มีพระอันดับตั้งแต่ 4 รูปไปก็ได้ ไม่มีก็ได้ ของใช้ในพิธีคือ
1.ไตรแบ่ง(จีวร 1 สบง 1 อังสะ 1 รัดประคดเอว 1 รัดประคดอก 1 ผ้ากราบ 1)
2.จีวร สบง อังสะ(อาศัยหรือสำรอง) ผ้าอาบ
3.ย่าม ผ้าเช็ดหน้า นาฬิกาพก หรือนาฬิกาปลุก
4.บาตร(มีเชิงรอง)
5.รองเท้า ร่ม
6.ที่นอน หมอน มุ้ง เสื่อ ผ้าห่ม
7.ชามข้าว ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ปิ่นโต
8.ขันน้ำ สบู่และกล่องสบู่ แปรงและยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว
9.ธูปเทียนดอกไม้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย ธูปเทียน ดอกไม้(หริอจะใช้เทียนแพมีกรวยดอกไม้ก็ได้ สำหรับถวายพระอาจารย์ผู้ให้บวช และจะมีเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมอื่นๆสำหรับถวายพระในพิธีนั้นอีกก็ได้ แล้วแต่ศรัทธา

ผู้บวชต้องโกนผม หนวดและคิ้ว และตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สะอาด ส่วนพิธีบวชนั้นมีอยู่ในหลักพระธรรมวินัยแล้วจะไม่พูดถึง ข้อสำคัญต้องว่า ไตรสรณคมน์ ให้ชัดถ้อยชัดคำ เพราะความเป็นสามเณรจะสำเร็จได้ด้วยไตรสรณาคมน์เท่านั้น นอกจากนั้น มีหัวข้อที่ผู้บวชจะต้องจดจำก็คือ
1.ให้บิดามารดา หรือผู้ปกครองพาไปหาพระอาจารย์ผู้ให้บวช
2.ท่องคำขอบวช สรณาคมน์ ศีลได้ด้วยตนเอง
3.หมั่นฝึกซ้อม เช่น การกราบ เป็นต้น

ข. บวชเป็นพระภิกษุ
ภิกษุ แปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร เมื่อเป็นพระภิกษุแล้วต้องถือศีล 227 ข้อ และต้องรักษาวัตรปฏิบัติอื่นอีกมาก
การบวชเป็นสมาเณรเป็นเบื้องต้นของการบวชเป็นพระภิกษุ กล่าวคือ จะบวชเป็นพระภิกษุได้ ก็ต้องบวชเป็นสามเณรก่อน เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้บวชเป็นพระภิกษุ จึงจำต้องบวชเป็นสามเณรก่อน ซึ่งมีวิธีการดังที่กล่าวแล้วข้างต้น แม้ผู้เป็นสามเณรแล้ว ก็จำต้องขอไตรสรณาคมน์และศีลใหม่ เพื่อทำให้แน่นแฟ้นขึ้น จึงดำเนินการบวชเป็นภิกษุได้ต่อไป

สถานที่ทำพิธี คือ โรงพระอุโบสถ มีพระสงฆ์รวม 28 รูป ประกอบด้วยพระอุปัชฌาย์ 1 พระกรรมวาจาจารย์ 1 พระอนุสาวนาจารย์ 1 สององค์หลังนี้ เรียกกันว่าพระคู่สวด อีก 25 รูปนอกนั้นเรียกกันว่า พระอันดับ
อัฐบริขาร และเครื่องใช้อื่นๆ ที่จำเป็นและควรจัดหามาคือ
1.ไตรครอง(จีวร 1 สบง 1 สังฆาฏิ 1 อังสะ 1 รัดประคดเอว 1 รัดประคดอก 1 ผ้ากราบ 1)
2.บาตร พร้อมทั้งเชิงรอง ฝาบาตร ถลกบาตร และสายโยค
3.มีดโกน พร้อมทั้งหินลับมีด
4.เข็มเย็บผ้า พร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย
5.เครื่องกรองน้ำ(ธมกรก)
6.เสื่อ ที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่มนอน
7.จีวร สบง อังสะ ผ้าอาบ(อาศัย)
8.ตาลปัตร ย่าม ผ้าเช็ดหน้า ร่ม รองเท้า
9.โคมไฟฟ้า ไฟฉาย นาฬิกา
10.สำรับหรือปิ่นโต คาว หวาน จานข้าว ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ
11. ที่ต้มน้ำ กาต้มน้ำ ป้านพร้อมทั้งถ้วย เหยือกน้ำและแก้วน้ำ กระติกน้ำแข็ง กระติกน้ำร้อน
12.กระโถนบ้วน กระโถนถ่าย
13.ขันอาบน้ำ สบู่และกล่องสบู่ แปรงและยาสีฟัน ผ้าขนหนู กระดาษชำระ
14.สันถัต(อาสนะ)
15.หีบไม้หรือกระเป๋าหนังสำหรับเก็บไตรครอง
1. ถึง 5. เป็นสิ่งจำเป็นมาก เรียกอัฐบริขาร แปลว่า บริขาร 8 อย่าง นับดังนี้ คือ จีวร 1 สังฆาฏิ 1 สบง 1 รัดประคด 1 บาตร 1 มีดโกน 1 เข็ม 1 เครื่องกรองน้ำ 1 ของนอกนั้นมีความจำเป็นลดน้อยลงแล้วแต่กำลังของเจ้าภาพจะจัดหามาได้

ไตร วางไว้บนพานแว่นฟ้า บาตรสวมอยู่ในถุงตะเครียวภายในบาตรใส่มีดโกน พร้อมด้วยหินลับมีดโกน เข็มพร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย และเครื่องกรองน้ำ นอกจากนั้น ยังนิยมใส่พระเครื่องรางต่างๆลงในบาตรเพื่อปลุกให้ขลังขึ้นด้วย ถ้ามีกระบวนแห่ไปสู่พระอุโบสถควรจัดกระบวน ดังนี้
1.การแสดงต่างๆ เช่น หัวโต สิงโต กระตั้วแทงเสือ(ถ้ามี)
2.แตร หรือเถิดเทิง(ถ้ามี)
3.ของถวายพระอุปัชฌาย์ คู่สวด
4.ไตรครอง ซึ่งมารดาของผู้บวชมักจะเป็นผู้ถือ(มีสัปทนกั้น)
5. ผู้บวชพนมมือถือดอกบัว 3 ดอก กับธูป 2 เทียน 1(มีสัปทนกั้น)
6.ตาลปัตร และบาตร ซึ่งบิดาของผู้บวชมักเป็นผู้ถือ
7.ของถวายพระอันดับ
8.บริขารและเครื่องใช้อย่างอื่นของผู้บวช

ถ้ามีของถวายพระอุปัชฌาย์และคู่สวดก็ต้องมีสัปทนกั้นอีก 3 คัน ของถวายพระอุปัชฌาย์มีพิเศษอย่างหนึ่ง คือ กรวยขอนิสัย ซึ่งภายในกรวยมีหมากพลูหรือเมี่ยงและบุหรี่ นอกนั้นแล้วแต่จะเห็นสมควร ควรจัดของถวายสำหรับพระอุปัชฌาย์เป็นพิเศษ รองลงมาคือคู่สวด รองลงมาอีก คือ พระอันดับ

เมื่อจัดขบวนเรียบร้อยแล้ว ก็เคลื่อนไปสู่หน้าพระอุโบสถแล้วเวียนขวารอบนอกสีมา 3 รอบ พร้อมกับเสียง โห่-ฮิ้ว เป็นระยะ เวียนครบ 3 รอบแล้ว ก็เข้าไปในภายในพระอุโบสถทั้งหมด เว้นแต่การแสดงต่างๆแตรหรือเถิดเทิง และผู้บวช ส่วนผู้จะบวชต้องวันทาสีมาหน้าพระอุโบสถเสียก่อน เสร็จแล้วโปรยทาน แล้วเข้าสู่พระอุโบสถได้ โดยมารดาบิดาหรือญาติผู้ใหญ่หรือเจ้าภาพจูง ประกอบด้วยญาติและมิตรเป็นผู้เกาะต่อๆกัน  ครั้นแล้วผู้บวชจึงไปวันทาพระประทานในพระอุโบสถด้านข้างพระหัตถ์ขวา แล้วมารับไตรครองจากมารดาบิดา หรือญาติผู้ใหญ่ หรือเจ้าภาพ ต่อจากนั้นจึงเริ่มพิธีการบวชตามหลักพระธรรมวินัยต่อไป
เมื่อบวชเป็นสมาเณรเสร็จ บิดาต้องคอยประเคนบาตรแก่สามเณรนั้น ขณะที่พระคู่สวดกำลังสวดญัตติจตุตถกรรมวาจา ห้ามมิให้อนุปสัมบันน์(ผู้มิใช่พระภิกษุ) เข้าใกล้อาสน์สงฆ์เกินกว่า 1 ศอก ทางที่ดีควรสงบอบู่กับที่ ภายหลังจากบวชเป็นพระภิกษุเสร็จแล้ว เจ้าภาพและญาติมิตรจึงถวายอัฐบริขารและเครื่องใช้อื่นๆที่สมควรแก่สมณะแก่ผู้บวชใหม่ต่อไป เสร็จแล้วพระบวชใหม่กลับขึ้นมากรวดน้ำในที่ชุมนุมสงฆ์ เป็นอันเสร็จพิธี

ข้อสำคัญที่ควรจดจำไว้คือ
1.มารดาบิดา หรือญาติผู้ใหญ่ หรือเจ้าภาพ พร้อมทั้งผู้บวช จะต้องไปติดต่อกับพระอุปัชฌาย์แต่เนิ่นๆ
2.ผู้จะบวช เรียกกันว่า อุปสัมปทาเปกข์หรือนาค มีคำบาลีที่จะต้องท่อง เรียกกันว่า ขานนาค ฉะนั้น เจ้านาคจะต้องท่องขานนาคให้คล่องแคล่ว และชัดถ้อยชัดคำ
3. หมั่นฝึกซ้อมกับพระอุปัชฌาย์ ในเรื่องระเบียบพิธีต่างๆอันเนื่องในการนี้

หมายเหตุ ในการบวชนี้ บางคนนิยมพิธีทำขวัญนาคก่อนวันบวช 1 วัน หรือทำในวันนั้น คือทำขวัญเช้า บวชบ่าย การทำขวัญก็เพื่อให้เจ้านาครู้จักคุณมารดาบิดา และมีใจศรัทธาซาบซึ้งในการบวชขึ้นอีก ในการนี้จะต้องมีอีกหลายอย่าง เช่น บายศรี แว่นเวียนเทียน ฆ้องหมุ่ย ธูปเทียน ตามแบบของหมอทำขวัญ การทำขวัญก็ดี แม้การแสดงต่างๆตลอดถึงแตร เถิดเทิงก็ดี บางคนก็ไม่นิยม ชอบเงียบๆตรงไปเข้าพระอุโบสถเลย บางคนมีแต่เพียงพิณพาทย์คอยบรรเลงที่หน้าพระอุโบสถและมีแตรสังข์เป่าอยู่หลังพระประธานในพระอุโบสถ ทั้งนี้ ต่างมีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น แล้วแต่อัธยาศัยและกาลเทศะเป็นสำคัญ ส่วนการแต่งตัวเจ้านาคมักใช้ชุดขาว นุ่งแถบผ้าถุงจีบปลายรวมไว้ด้านหน้าใส่เสื้อขาว สวมเสื้อครุยทับ

แหล่งข้อมูล: มงคลพิธี ฉบับสมบูรณ์ รวบรวมและเรียบเรียงโดย ท. ธีรานันท์

ทำบุญงานมงคลธรรมดา

ทำบุญงานมงคลธรรมดา


พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธาปสาทะ ใคร่ที่จะทำบุญโดยอาราธนาภิกษุมาเจริญพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารเนื่องในงานใดๆ ซึ่งเป็นงานมงคลอันมิได้กล่าวไว้เป็นแผนกหนึ่งต่างหาก อาจทำได้เสมอ ไม่จำกัดวันหรือเดือน ความสำคัญขึ้นอยู่ที่ความสะดวกมากกว่า ทั้งจำนวนพระภิกษุก็มิได้กำหนดแน่นอนว่าต้องเท่านั้นเท่านี้รูป แล้วแต่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนผู้เป็นเจ้าภาพนั้นๆ แต่ส่วนใหญ่มักนิยมอย่างน้อย 5 รูป อย่างกลาง 9 รูป อย่างสูงเกินกว่า 9 รูป ขึ้นไป ส่วน 7 รูปเป็นที่นิยมในงานศพมากกว่าในงานมงคล และการทำบุญนั้นจะทำที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ ข้อสำคัญในเรื่องนี้ คือ
1.จัดโต๊ะหมู่บูชา ตั้งพระพุทธรูป แจกันดอกไม้ กระถางธูปและเชิงเทียน พร้อมทั้งธูปและเทียน ถ้าเป็นโต๊ะธรรมดา แจกัน 1 คู่ เชิงเทียน 1 คู่ กระถางธูป 1 กระถาง ในเมื่อใช้เทียนหน้าพระ 2 เล่ม(ขนาดพองาม)  ธูปต้อง 5 ดอก ถ้าใช้เทียน 1 ธุป 3 นี้เป็นความนิยมชนิดหนึ่ง ถ้าเป็นโต๊ะหมู่บูชา ก็มีเครื่องใช้มากกว่านี้ และมีพานจัดดอกไม้ด้วย โต๊ะหมู่บูชาหันหน้าไปทางทิศไหนก็ได้ ขอแต่เพียงให้อยู่ทางขวามือของพระภิกษุผู้เป็นประธาน และหันหน้าโต๊ะไปทางเดียวกับพระเท่านั้น ถ้าจำเป็นต้องอยู่ทางซ้าย ให้หันหน้าโต๊ะตัดหน้าพระ พระพุทธรูป ถ้าเป็นพระประจำวันของเจ้าภาพได้ก็ยิ่งดี และถ้ามีครอบเวลาทำพิธีให้เอาครอบออก

2.ตั้งบาตรทำน้ำมนต์ หรือครอบสำหรับดับเทียนก็ได้ บาตรหรือครอบนี้ใส่น้ำสะอาดให้เต็ม(น้ำห่างจากขอบประมาณ 1 นิ้วฟุตเป็นงาม) ปักเทียนน้ำมนต์ ซึ่งเป็นเทียนดี หนัก 6 สลึง ไส้ 9 เส้น 1 เล่ม ที่ขอบปากบาตร หรือที่ฝาครอบ


3.ตั้งอาสน์สงฆ์ ปูด้วยผ้าขาว แล้ววางสันถัตลงบนผ้าขาวนั้น ในระยะห่างกันพอสมควร วางกระโถน พาน หมากพลูบุหรี่เป็นรูปๆไป(หรือสองรูปต่อหนึ่งก็ได้) นอกจากนี้ จะมีขันน้ำพานรองเป็นรูปๆไปก็ได้ อย่างไรก็ดี ควรเตรียมถ้วยน้ำร้อนและแก้วน้ำเย็นไว้เพื่อใส่น้ำร้อนหรือปานะอย่างอื่นถวายพระ

4.ต้องมีสายสิญจน์ อย่างน้อยวงที่องค์พระพุทธรูป แล้วมาต่อที่บาตรน้ำมนต์ หรือครอบดับเทียน อย่างกลางวงรอบบาน อย่างมากวงรอบบริเวณบ้าน แล้วมาต่อที่องค์พระพุทธรูปและมาบรรจบที่บาตรหรือครอบ ส่วนสายสิญจน์ที่ยังเหลืออยู่ให้วางไว้บนพานข้างพระภิกษุผู้เป็นประธาน วิธีวงให้วงไปทางขวา(ทักษิณาวรรต) เฉพาะที่สายสิญจน์ที่วงรอบบ้าน หรือรอบบริเวณบ้าน เมื่อเสร็จพิธีแล้วให้เด็ด เหลือไว้เพียงวงรอบ เป็นสายสิญจน์ปริตรป้องกันภยันตราย อำนวยความสุขความเจริญแก่เจ้าภาพและผู้อยู่อาศัย

วิธีการ ถ้าทำสองวัน วันแรกเป็นวันเจริญพระพุทธมนต์ตอนเย็น เริ่มด้วยจุดธูปเทียนหน้าพระ บูชาพระรัตนตรัยแล้ว อธิษฐานจิตตามที่ปรารถนา อาราธนาศีล รับศีลแล้วอาราธนาพระปริตร ๆฟังพระสวดมนต์ต่อไป ขณะที่เริ่มสวดมงคลสูตร(อะเสวะนา จะ พาลานัง ฯลฯ) จุดเทียนน้ำมนต์แล้วประเคนบาตรหรือครอบนั้น พระสวดจบแล้วมักถวายหมากพลูซอง เรียกกันว่า หมากอังคาส แสดงว่าพรุ่งนี้มีการถวายภัตตาหาร พระกลับไปวัดโยไม่ต้องอนุโมทนา(ยะถา สัพพี)  ส่วนวันที่สองหรือวันรุ่งขึ้น มักนิมนต์ให้ฉันเช้า เพราะมีโอกาสได้ตักบาตรและถวายอาหารให้ไปฉันเพลอีกด้วย เริ่มต้นด้วยจุดธูปเทียนหน้าพระ บูชาพระรัตนตรัย เช่นวันก่อน แล้วอาราธนาศีล รับศีลแล้ว พระสวดถวายพรพระ(นะโม, อิติปิโส, พาหุง, มะหาการุณิโก, ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง) ขณะที่พระสวดจบ แล้วถวายภัตตาหาร พระฉันเสร็จ ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม จะเป็นอะไรก็ได้ ขอแต่เป็นกัปปิยภัณฑ์เท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรขาด ก็คือดอกไม้ธุปเทียนเพราะเป็นเครื่องหมายแห่งสักการะ มิใช่ค่าจ้าง เสร็จแล้วกรวดน้ำ พระอนุโมทนา หลังจากนั้น อาราธนาพระภิกษุผู้เป็นประธาน ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่บุคคลและสถานที่อยู่เป็นเสร็จพิธี

หมายเหตุ  ปัจจุบันนี้ บางคนแม้นิยมทำสองวัน แต่ถึงเวลาฉันนิมนต์ให้ฉันเพล ในกรณีนี้ไม่มีการตักบาตร บางคนนิยมทำวันเดียว พระเจริญพระพุทธมนต์ และสวดถวายพรพระเสร็จในตัว เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 10.15 น. เป็นเหมาะ ในกรณีทำสองวัน บทสวดวันแรก คือ นะโม, พุทธัง ,โย จักขุมา. (หรือ สัมพุทเธ) นะโม อะระหะโต, อเสวะนา ,ยังกิญจิ (ดับเทียนน้ำมนต์ตอน นิพพันติ...) เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง, อัปปะมาโณ พุทโธ, อัตถิ โลเก, อิติปิ โส.,วิปัสสิสสะ, ยะโตหัง (ติดกับ โพชฌังโค) ยันทุนนิมิตตัง, สักกัตวา พุทธะระตะนัง (ต่อด้วย นัตถิ เม) ทุกขัปปัตตา, สัพเพ พุทธา ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง,นักขัตตะยักขะภูตานัง  วันที่สองเริ่มด้วย นะโม, อิติปิโส, พาหุง, มหาการุณิโก, ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง. ในกรณีทำวันเดียว บทสวดก็เหมือนบทสวดในกรณีทำสองวัน(เฉพาะวันแรก) มีที่ต่างคือ จาก สัพเพ พุทธา. ต่อด้วย พาหุง, มะหาการุณิโก, ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง, ไม่มี นักขัตตะยักขะภูตานัง


แหล่งข้อมูล: มงคลพิธี ฉบับสมบูรณ์ รวบรวมและเรียบเรียงโดย ท. ธีรานันท์

แสดงตนเป็นพุทธมามกะ

แสดงตนเป็นพุทธมามกะ


คนไทยผู้ที่ยังมิได้บวชเป็นสามเณรหรือเป็นภิกษุ ควรแสดงตนเป็นพุทธมามกะ พุทธมามกะ แปลว่า ผู้นับถือพระพุทธเจ้าเป็นของตน คือ นับถือพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงไม่ละทิ้งนั่นเอง แม้เคยบวชแล้ว เมื่อจะเดินทางไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน ก็ควรแสดงตนเป็นพุทธมามกะก่อนจะไป เพราะนอกจากเป็นการประกาศย้ำความเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีเป็นระเบียบพิธีแล้ว ยังถือว่าสามารถป้องกันภยันตรายต่างๆได้ด้วย

สถานที่ทำพิธี ควรเป็นพระอุโบสถ ถ้ามิใช่พระอุโบสถ สถานที่ทำพิธี ควรมีพระพุทธรูป แจกันปักดอกไม้ เชิงเทียน กระถางธูป สายสิญจน์ 1 กลุ่ม (สำหรับวงรอบพระพุทธรูป พระสงฆ์ถือและคล้องคอตัวผู้แสดง) บาตรน้ำมนต์มีน้ำเต็ม เทียนน้ำมนต์(หนัก 6 สลึง ไส้  9 เส้น) 1 เล่ม ธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย(เทียน 2 ธูป 5) พระสงฆ์คือพระภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ประชุมกันในสถานที่นั้น นั่งล้อมวงผู้แสดง

ผู้แสดงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้งจุดเทียนน้ำมนต์ปักไว้ที่ของปากบาตร ยกประเคนบาตรเสร็จแล้ว จึงอาราธนาศีล 5 ด้วยตนเอง เมื่อรับไตรสรณาคมน์และศีลเสร็จแล้ว ตอนจบให้ว่า

อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ(3 หน) เสร็จแล้วกราบ 3 หน ต่อจากนั้น แสดงตนเป็นพุทธมามกะ ต่อหน้าพระสงฆ์ว่า
พุทธัง ชีวิตัง ยาวะนิพพานัง สะระณัง คจฺฉามิ ข้าพเจ้าของถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต ตลอดถึงพระนฤพาน

ธัมมัง ชีวิตัง ยาวะนิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต ตลอดถึงพระนฤพาน

สังฆัง ชีวิตัง ยาวะนิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆเจ้าเป็นสรณะที่พึงที่ระลึกตลอดชีวิต ตลอดถึงพระนฤพาน

พุทธะมามะโกติ มัง สังโฆ ธาเรตุ ขอพระสงฆ์จงจำขั้พเจ้าไว้ว่า เป็นพุทธมามกะ ผู้นับถือซึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นของข้าพเจ้า ธัมมะมามะโกติ มัง สังโฆ ธาเรตุ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นธัมมามะกะ ผู้นับถือซึ่งพระธรรมเจ้าว่าเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า สังฆะมามะโกติ มัง สังโฆ ธาเรตุ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นสังฆมามะกะ ผู้นับถือซึ่งพระสงฆ์ว่าเป็นของข้าพเจ้า

อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพเจ้าขอสละอัตตภาพร่างกายนี้แด่พระองค์(ว่าบทนี้ทั้งคำแปล 3 หน) เสร็จแล้วกราบ 3 หน

จากนั้นอาราธนาพระปริตรต่อไป พระสงฆ์เอาสายสิญจน์คล้องตัวผู้แสดงแล้วเจริญพระพุทธมนต์ จบแล้วหัวหน้าสงฆ์อาบน้ำมนต์ให้ พระภิกษุนอกนั้นสวด ชะยันโตฯลฯ ต่อด้วย สัพเพ พุทธา ฯลฯ รักขัง พันธามิ สัพพะโส ( 3 หน)

ผู้แสดงถวายจตุปัจจัยไทยธรรม แล้วพระสงฆ์ทั้งนั้นสวดอนุโมทนา ผู้แสดงกรวดน้ำ เป็นเสร็จพิธี

หมายเหตุ ผู้แสดงควรแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดขาว ตามสมัยนิยม ถ้าเป็นหญิง พระสงฆ์ไม่ต้องนั่งล้อมวง ถ้าจะคล้องสายสิญจน์ ให้พันสายสิญจน์กับสิ่งอื่นเสียก่อน ในกรณีเช่นนี้ ไม่ควรอาบน้ำมนต์ ให้ใช้เพียงพรม ให้ผู้แสดงไปอาบเองที่บ้าน ส่วนคำแสดงตนให้เปลี่ยนเป็น พุทธะมามะกา...ธัมมะมามะกา...สังฆะมามะกา... นอกจากนี้เหมือนกัน

แหล่งข้อมูล: มงคลพิธี ฉบับสมบูรณ์ รวบรวมและเรียบเรียงโดย ท. ธีรานันท์